เชียงรายไม่เห็นด้วยยุบสนามบินแม่ฟ้าหลวง ชี้ การพัฒนาถดถอย สถิติยันเติบโตต่อเนื่อง

ชาวบ้าน-ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยยุบสนามบินแม่ฟ้าหลวงชี้การพัฒนาถดถอย

บรรยากาศที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ยังคงคึกคักไปด้วยผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไปใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าทางบริษัทท่าอาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.จะออกมาเปิดเผยกับสื่อบางสำนักว่าการใช้บริการที่ท่าอาศยานแม่ฟ้าหลวงและท่าอาศยานหาดใหญ่มีจำนวนผู้ใช้บริการและจำนวนเที่ยวบินลดลง ทำให้อาจจะต้องมีการยุบสนามบินทั้งแห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน

โดยน.ส.ศิริพร ปัญญาจักร ผู้โดยสารชาว จ.พะเยา ซึ่งใช้บริการท่าอาศยานแม่ฟ้าหลวงเป็นประจำกล่าวว่าที่ จ.พะเยาไม่มีสนามบินเป้นของตัวเอง ต้องอาศัยท่าอาศยานแม่ฟ้าหลวงในเดินทางระหว่างเชียงรายกับกรุงเทพบ่อยครั้ง เพราะมีความสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางโดยรถยนต์อีกทั้งยังราคาประหยัด การจะยุบท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงไม่เห็นด้วยเพราะจะทำการเดินทางลำบาก หากต้องไปใช้สนามบินที่เชียงใหม่ก็อยู่ไกลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายหลายต่อ

ด้านนายกิตติ ทิศสกุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือ กล่าวว่าเชียงรายเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทยที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญในการเรื่องของการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว มีศักยภาพทางเศรษฐกิจโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยโตขึ้นร้อยละ 7-10 เปอร์เซ็นต์ การเดินทางมาท่องเที่ยวหรือมาทำธุรกิจการเดินทางโดยสายการบินผ่านท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงมีจำนวนมาก สามารถเชื่อมการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มจังหวัดภาคเนหือโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันอัตราการบินที่เชียงใหม่เกือบเต็มแล้ว ในเชียงรายยังมีมาก ส่วนนี้จะสามารถรองรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศได้ซึ่งแม้ขณะนี้จะมีประมาณ 10 ไพล์ต่อสัปดาห์แต่อนาคตเชื่อว่าจะมีการขยายตัว ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาจ.เชียงราย การจะยุบตัวไปควรพิจารณาให้มากเพราะผู้ประกอบการมีความกังวลใจ หากไม่มีสนามบิน โลจิสติกของเชียงรายจะมีปัญหาในหลายด้าน การพัฒนาด้านต่างๆจะถดถอยลงอย่างมาก

Advertisement

นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าปัจจุบันนอกจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จะมีสายการบินภายในประเทศจำนวน 12 สายการบิน และทำการบินวันละหลายสิบเที่ยวแล้วยังมีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากเกาหลีใต้ไปเยือนและในอดีตก็เคยมีมาจากประเทศจีนอยู่เนืองๆ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ได้ผลักดันเส้นทางการบินเพิ่มเติมจากเชียงราย-ตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่อยู่ใกล้กันและเชื่อมโยงไปยังเมืองฮานอยและโฮจิมินต์ ประเทศเวียดนาม ด้วย เนื่องจากเชียงรายถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมหลายด้านของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือจีเอ็มเอสซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจการค้า การคมนาคมและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก ดังนั้นตนเห็นว่าข้อมูลเรื่องการจะยุบเลิกอาจเกิดจากความเข้าใจผิดบางประการก็เป็นไปได้ซึ่งทางหอการค้าและภาคเอกชนจะสอบถามข้อมูลและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าการดำเนินการเรื่องนี้ควรจะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนมากกว่านี้ โดยหากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็ควรหาวิธีการอื่นทดแทนมากกว่ายุบเลิกกิจการโดยมีตัวอย่างกรณีท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของรัฐในการค้าขายลุ่มแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย พบว่ามีการสร้างท่าเรือใหญ่โตแต่ขาดเพียงเคนนยกสินค้าที่รัฐยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ส่งผลทำให้ต้องมีการไปเช่าเครนภาคเอกชนจากเขต อ.เมืองเชียงราย หรือไกลถึง จ.พะเยา ไปยกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นและลงเรือก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนในที่สุด ซึ่งกรณีสนามบินนี้ก็เช่นกันตนเห็นว่าหากผู้โดยสารมีจำนวนลดลงก็คงจะเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งมีขึ้นและลง ส่วนการแก้ไขปัญหาควรคิดหาวิธีการสร้างแรงจูงใจหรือจัดโปรโมชั่นหรือลดค่าใช้จ่าย เช่น โบนัส ฯลฯ แทนการยุบเลิกซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่าได้

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.อนาคตใหม่ เชียงรายกล่าวว่าเชียงราย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่จำเป็นจะต้องมีสนามบนิไว้รองรับเส้นทางคมนาคม การมีแนวคิดที่จะยุบท่าอาศยานแม่ฟ้าหลวงถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนัก ซึ่งปัญหาของท่าอากศยานแม่ฟ้าหลวงเป็นผลพวงมาจากเชียงรายเป็นเมืองรองการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวจะอยู่เพียง 1 วันครึ่งแล้วก้ไป ทำให้รายได้ด้านต่างๆก็มีผลกระทบไปด้วย รวมทั้งท่าอากาศยานซึ่งจะมีรายได้จากค่ารายหัวของผู้โดยสาร หากไฟล์ทปกติจะได้เพียง 100 บาทหากเป็นไฟล์ทอินเตอร์ก็จะได้ 700 บาท โดยจะได้ในช่วงขาออก ซึ่งการเดินทางมาเชียงของส่วนใหญ่จะเป้นขาเข้าส่วนขาออกจะเดินทางไปทางด้่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้จะไม่ได้เงินในส่วนนี้ ดังกล่าวการยุบท่าอากาศไม่ไช่ทางออก ควรจะมีการแก้ไขที่รูปแบบเพื่อให้ไฟล์ทอินเตอร์เข้าและออกที่เชียงรายมากขึ้น โดยจะต้องมีการสร้างเรื่องราวผูกโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวและเมียนมา โดยใช้เชียงรายเป็นฮับทั้งขาเข้าและขาออกเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาเชียงรายนานขึ้น

Advertisement

ขณะที่นายอัครพันธ์ ทองสลวย ผอ.ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ระบุว่าประเด็นการยุบท่าอากาศยานอาจมีการเข้าใจที่คาดเคลื่อน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทท่าอาศยานไทย จำกัด(มหาชน) แต่โดยส่วนตัวแล้วตนเชื่อว่าไม่น่าจะมียุบเนื่องจากปัจจุบันยังพบว่าท่าอาศยานแม่ฟ้าหลวงมีอัตราการให้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสถิติเที่ยวบินปี 2561 เติบโตขึ้นอีกร้อยละ 14 มี 13 สายการบินเฉลี่ย 54 ไฟล์ทต่อวัน จากเดิมในปี 2556 ที่มีเพียง 4 สายการบินจำนวน 19 ไฟล์ทต่อวันเท่านั้น เช่นเดียวกับจำนวนผู้โดยที่เติบโตขึ้นร้อยละ 15 ปี โดยมีจำนวน 2,867,270 คน ขณะที่ปี 2556 มีเพียง 1,089,272 คน สำหรับปี 2562 สถานการณ์ ก็ยังเติบโตขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ขณะนี้ทางท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงมีแผนพัฒนางานด้านบริการและระบบการบินด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 3,042 ไร่ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2535 สำหรับปี 2562 มีเที่ยวบิน 20,511 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 2,953,254 คน ทำให้ ทอท.มีแผนเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัดในปี 2561- 2565 ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางขับขนาน งานปรับปรุงทางขับ หลุมจอด การก่อสร้างทางเชื่อมทางวิ่ง งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ถนน งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารบำรุงรักษา และงานก่อสร้างอาคารดับเพลิงกู้ภัย ด้วยงบประมาณ 726 ล้านบาท นอกจากนี้มีโครงการร่วมลงทุนภาครัฐ และเอกชน โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์ รวมทั้งมีแผนพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ทั้งนี้เมื่อปี 2558 ทอท.ประกาศว่าได้มีการอนุมัติแผนพัฒนาด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือระยะที่ 1 วงเงินลงทุนประมาณ 3,700 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาสนามบินให้รองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.3 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image