แม่น้ำโขงส่อวิกฤต ลดเหลือ 1.50 เมตร หาดทรายโผล่เร็วกว่าทุกปี ชาวบ้านหวั่นแล้งรุนแรง

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้สถานการณ์ภัยแล้งส่อวิกฤต หลังระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเขื่อนจีนมีการเก็บกักน้ำตลอดปี บวกกับปีนี้พื้นที่ จ.นครพนม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสะสมต่ำ ประกอบกับฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำสะสมต่ำกว่าทุกปี อยู่ที่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ โดยเฉพาะแม่น้ำโขง ล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าต่ำกว่าถึง 2 เท่า ในช่วงเดือนเดียวกัน เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงแล้งที่จะมาถึง ตลอดจนลำน้ำสาขาเริ่มแห้งขอด

นอกจากนี้ ยังพบว่าตลอดลำน้ำโขงเขตพื้นที่ อ.เมืองนครพนม เริ่มเกิดหาดทราย สันดอนทราย เป็นพื้นที่กว้างกลางแม่น้ำโขง เริ่มส่งผลกระทบต่อการเดินเรือหาปลา รวมถึงเริ่มกระทบต่อความมั่นคงในการดูแลสกัดกั้นปราบปรามการลักลอบกระทำผิดกฎหมายขนยาเสพติดตามแนวชายแดน โดยเฉพาะหาดท้ายเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงหน้าแล้ง เดือนมีนาคม-เมษายนทุกปี จะพบเห็นหาดท้ายเมืองโผล่ ซึ่งทุกปีจะเกิดในช่วงฤดูแล้ง ประมาณช่วงสงกรานต์เท่านั้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกปี ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เที่ยวพักผ่อนชมธรรมชาติสองฝั่งโขง แต่ช่วงนี้มีหาดทรายโผล่กลางน้ำโขง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม อีกทั้งยังมีพื้นที่กว้างกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงแล้งวิกฤต

นายอาทิตย์ พนาศูนย์ อายุ 65 ปี ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ถือว่าระดับน้ำโขงผันผวนมากสุดในรอบเกือบ 100 ปี โดยจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ปัจจัยสำคัญมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโขงในประเทศจีน รวมถึงใน สปป.ลาว ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ ถือเป็นสัญญาณอันตราย ในอนาคต ปัญหาขาดแคลนน้ำจะกระทบรุนแรงมากขึ้น และยากที่จะแก้ไข เนื่องจากประเทศต้นน้ำมีการควบคุมระบบน้ำโขงจากเขื่อนไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่สำคัญที่น่าห่วงมากที่สุดคือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวลุ่มน้ำโขงจะเปลี่ยนไป ปลาน้ำโขงจะหายากมากขึ้น รายได้ลดลง เนื่องจากปีนี้น้ำโขงต่ำ ตั้งแต่ช่วงช่วงฤดูฝน และลดระดับเร็วกว่าทุกปี กระทบธรรมชาติ ระบบนิเวศพัง ปลาน้ำโขงไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำ หรือลำน้ำสงครามได้ สิ่งที่ตามมาคือปริมาณปลาลดลงแน่นอน ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขงจะต้องรับสภาพเพราะยากที่จะหาทางแก้ไข เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนของประเทศจีน หากมีการแก้ไขหารือต้องเป็นระหว่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image