ภัยแล้งคุกคามโคราช 8 อำเภอ 13 ตำบล 21 หมู่บ้านขาดแคลนน้ำอย่างหนักต้องแจกน้ำช่วย

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้นโยบายไว้ว่า “คนโคราชจะต้องไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค” ด้วยการให้นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดฯ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเอาไว้ทุกพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือตนเองก่อน และหากเกินกำลังสามารถขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มเติมจากทางจังหวัดฯ พร้อมกับให้ประเมินสถานการณ์น้ำระดับพื้นที่รายงานให้ทราบทุกสัปดาห์ เพราะขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคุกคามส่งผลกระทบต่อพื้นที่แล้ว โดยมี 13 ตำบล 21 หมู่บ้าน ใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง, จักราช, คง, หนองบุญมาก, เมืองนครราชสีมา, ปักธงชัย, สีคิ้ว และอำเภอสูงเนิน ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคต้องแจกจ่ายน้ำให้ ขณะที่อำเภอจักราชและอำเภอขามทะเลสอ มี 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งได้เร่งสูบน้ำสำรองไปไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว

ส่วนสถานการณ์น้ำประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ คาดว่า จะประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำดิบ 1 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาด่านขุนทด เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาลดระดับลงอย่างมาก ไม่สามารถนำน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาได้ จึงขออนุญาตจากกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลกุดพิมาน ดึงน้ำดิบจากบึงถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน มาใช้จำนวน 500,000 ลบ.ม. และจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้น้ำประปาไหลอ่อน และพื้นที่สูงน้ำประปาไม่ไหล จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้วยการจ่ายน้ำเป็นเวลา และใช้รถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำในเบื้องต้น สำหรับการประปาส่วนภูมิภาคอื่น ยังสามารถสูบน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วน โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 และจัดทำแผนเผชิญเหตุป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานการปฏิบัติ รวมทั้งออกประกาศจังหวัดฯ เรื่อง การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง (พืชหลังนา) ปี 2562/63 โดยขอให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ใช้น้ำน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และ ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว งา ทานตะวัน ข้าวฟ่าง และกลุ่มพืชผักสวนครัว เป็นต้น อีกทั้งให้ทุกอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เร่งรัดสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบต่างๆ หรือจากฝนที่ตกในพื้นที่ไปกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้เต็มความจุ เพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ประชาชนทุกภาคส่วน สำรองน้ำไว้ในสระน้ำ แหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ จัดหาภาชนะสำรองน้ำประจำครัวเรือนทุกครัวเรือน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด และเป็นแหล่งน้ำสำรองประจำบ้าน กับดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กมาใช้แต่ละครัวเรือน แหล่งเก็บน้ำในไร่นา

ขณะเดียวกัน ให้แต่ละชุมชน/ตำบล สูบน้ำ สูบทอย หรือการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ มาใช้ในชุมชน และให้สำรวจบ่อบาดาลเก่า หรือบ่อบาดาลที่เคยใช้งานแต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เพื่อดำเนินการเป่าล้าง แล้วสูบดึงน้ำบาดาลมาใช้แก้ไขปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค กับจัดทำฝายประชารัฐให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว รวม 18 อำเภอ 233 จุด ส่วนระดับอำเภอ ให้สำรวจข้อมูลหมู่บ้านที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค/ประปา ในช่วงเดือน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563 เพื่อกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image