จ่อเชิญกรมเจ้าท่า–กรมบัญชีกลางชี้แจงใช้งบ 60 ล้านสร้างเขื่อนกันคลื่นทับสะแกนานเกือบ 3 ปี ไม่คืบหน้า

กรรมาธิการ ปภ.จ่อเชิญกรมเจ้าท่า – กรมบัญชีกลางชี้แจงใช้งบ 60 ล้านสร้างเขื่อนกันคลื่นทับสะแกนานเกือบ 3 ปี ไม่คืบหน้า

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติเเละสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากกรณีชาวบ้านหมู่ 2 บ้านทุ่งประดู่ ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก ประสบปัญหาบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากคลื่นกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำโครงการเขื่อนหินทิ้งกันคลื่นของกรมเจ้าท่าใช้งบ 60 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาผู้รับเหมารายเดิมทิ้งงาน มีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จากการสร้างเขื่อนความยาว 1,175 เมตร ปัจจุบันสร้างได้เพียง 400 เมตร ขณะที่กรมเจ้าท่าจะต้องรับมอบงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน เพื่อให้มีข้อยุติโดยเร็ว ประชาชนไม่เสียประโยชน์จากการใช้งบประมาณแผ่นดิน กมธ.จะเชิญกรมเจ้าท่า ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรคกรณีการใช้งบเหลือจ่ายของโครงการอีก 40 ล้านบาท เหตุใดจึงดำเนินการล่าช้า หลังจากผู้รับเหมามีลักษณะทิ้งงานและเสียค่าปรับวันละ 2 หมื่นบาทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ขณะที่เดือนมกราคม 2563 โครงการนี้จะครบ 3 ปีแต่ยังสร้างไม่เสร็จ

นายประมวล กล่าวว่า สำหรับการป้องกันความเสียหายเบื้องต้นทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สั่งให้ฝ่ายปกครอง อ.ทับสะแก รื้อบิ๊กแบ๊กถุงดำ 1,000 ชุด ภายในบรรจุผงแบล็คคาร์บอนจากประเทศจีนกากขยะอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ออกจากพื้นที่ชายหาดทุ่งประดู่ แล้วต่อมามีผู้บริจาครายเดิมนำถุงบิ๊กแบ๊กสีขาว 1,000 ชุดไปวางทดแทนเพื่อป้องกันคลื่นเป็นการชั่วคราว แต่จากการตรวจสอบพบว่ากรมเจ้าท่ายังไม่ได้ทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับผู้รับเหมารายใด ขณะที่อธิบดีกรมเจ้าท่ายืนยันว่าผู้บริจาคถุงบิ๊กแบ๊ก ไม่ทราบว่าเป็นผู้รับเหมาหรือไม่ และไม่เกี่ยวข้องกับกรมเจ้าท่า แต่เมื่อถูกทักท้วงปัญหาจากถุงดำได้นำถุงใหม่สีขาวมาเปลี่ยนให้เพื่อป้องกันคลื่น ล่าสุดหลายฝ่ายเรียกร้องให้เอกชนรายดังกล่าวหากต้องการช่วยเหลือประชาชนควรนำบิ๊กแบ๊กไปวางตลอดแนวชายหาดที่เหลืออีกกว่า 800 เมตร โดยไม่ต้องรอสัญญาจ้าง ขณะที่กรมเจ้าท่าแจ้งว่าผู้รับเหมารายใหม่จะต้องซื้อบิ๊กแบ๊ก 4,000 ชุด วางไว้ชั่วคราวตลอดแนวชายหาดจนกว่าเขื่อนจะสร้างเสร็จ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า จากการติดตามพบว่าถุงสีขาวยังใช้ถุงบริจาคที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ ไม่ได้ใช้ถุงที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติที่มีความคงทนถาวรมากว่า หากมีพลาสติคเป็นส่วนผสมก็จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมภายหลังเมื่อใช้งานแล้วมีการเปื่อยยุ่ย อาจทำให้มีไมโครพลาสติคปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ นอกจากนั้นหลายหน่วยงานได้รณรงค์งดใช้พลาสติคในพื้นที่ชายหาด จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้มีอำนาจในระดับอำเภอหรือจังหวัด จึงไม่ได้ให้ความสนใจประเด็นนี้ และไม่ใช้งบของทางราชการเพื่อจัดซื้อบิ๊กแบ๊กที่มีคุณภาพดีแทนการรับบริจาค

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image