นักวิชาการหวั่น ‘เคอร์ฟิว’ จว.ชายแดนใต้ ส่งผลลบ-กระทบจิตใจคนพื้นที่

หลังจากมีประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” ที่ให้อำนาจแก่ กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 9 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า หากมีการประกาศใช้ขึ้นมาจริง จะส่งผลด้านลบมากกว่าด้านบวก และการประกาศใช้เคอร์ฟิวนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผศ.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในแง่ของการปฏิบัติขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ในแง่กฎหมาย มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ ก็มีการประกาศก่อนในแง่ของการให้อำนาจ นายกรัฐมนตรี หรือ ผอ.รมน ดำเนินการได้ตามกฎหมาย รวมถึงการประกาศ กำหนดเวลา ในการออกนอกเคหสถานได้รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งตนคิดว่าถ้าหากมีการประกาศจริงในตอนนี้ อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลในด้านบวก ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง ยังระมัดระวังและไม่มีการประกาศใช้ เว้นแต่จะมีเงื่อนไขและจำเป็นจริงๆ ที่จะมีการดำเนินการ

“ซึ่งจริงๆ แล้ว จะต้องดูมาตรการเป็นขั้นตอน แต่เท่าที่ดูสถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่มีอะไรผลที่ตามมาที่น่าเป็นห่วง แต่มันมีความรู้สึกในแง่ของประชาชนเท่านั้นที่มีปัญหา แต่ถ้าประกาศออกมาทำให้รู้สึกว่าสถานการณ์แย่ลง หรือทำให้คนรู้สึกว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังควบคุมไม่ได้ ยังมีความวุ่นวายอยู่ ยังไม่แน่นอนปั่นป่วน เชื่อว่าถ้าหากว่าถ้าคงสถานการณ์ให้นิ่ง อาจจะดีกว่าการประกาศใช้ ในตอนนี้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อจิตวิทยาสังคมมาก กับประชาชนและอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพลักษณ์ในแง่ของการมองจากต่างประเทศที่มองในเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบอยู่ในแง่ของการสื่อสาร ในแง่ของการการติดตามข่าวต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้ หายไปหลายปีในพื้นที่ภาคใต้ มาปรากฏขึ้นในขณะนี้ จะถูกเฝ้ามองอย่างมากจากสื่อมวลชน และจากต่างประเทศ” ผศ.ศรีสมภพกล่าว และว่า เท่าที่ทราบไม่น่าจะถึงขั้นต้องประกาศเคอร์ฟิว เพราะเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยังเงียบอยู่

ผศ.ศรีสมภพกล่าวว่า ส่วนกฎหมายพิเศษก็ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก ที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย จะต้องมีการประเมินและศึกษาให้ดี ทำเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายความมั่นคงภายใน ซึ่ง 3 ฉบับนี้ เป็นกฎหมายพิเศษและออกมาในช่วงบังคับใช้ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 15 ปี

Advertisement

“การประเมินเป็นสิ่งที่สมควรจะทำ และจะต้องมีการประเมินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลในความมั่นคง ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ผลในแง่ของต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง และต่อประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไทยพุทธ พื้นที่เขตเมือง เขตชนบท เขตพื้นที่มีความอ่อนไหว หรือพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สีเขียว ถ้าประเมินอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ก็ก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะมีข้อเสนออยู่ว่าถ้าหากว่าจะยกเลิกกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถจัดการได้ เช่น ในเขต 5 อำเภอ ก็มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว แต่ก็มีการใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน และมาตรการในการปฏิบัติก็ก็ทำเป็นขั้นเป็นตอนกฎหมายแต่ละขั้นตอน” ผศ.ศรีสมภพกล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ศรีสมภพ กล่าวถึงการก่อเหตุถล่มยิง 15 ศพ ที่ จ.ยะลา ว่า เชื่อว่า 1.ผู้ก่อเหตุต้องการแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติการต่างๆ ของกลุ่มสามารถทำได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ที่อยากจะทำ 2.ฉวยจังหวะสร้างข่าว สร้างกระแส และการสื่อสารในทางการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ยังไม่ได้ลดกำลังลง และก็อีกด้านหนึ่งที่เห็นว่าการที่เรามองว่าเหตุการณ์มันลดลงซึ่งดูจากจำนวนครั้งของเหตุการณ์ที่มันลดลง ซึ่งก็ลดลงจริง กับความปลอดภัยจริงๆ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image