น้ำโขงแห้ง! ‘สันดอนโผล่’ วอนเกษตรกรชะลอการเพาะปลูกริมฝั่งน้ำโขง

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า หลังจากที่ระดับน้ำโขงลดต่ำในรอบหลายสิบปี จนทำให้เกิดหาดทรายในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะริมตลิ่ง ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อน ต้องต่อท่อยาว เพื่อดูดน้ำโขงให้มาใช้ในการเกษตรหลายสิบเมตร ขณะนี้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้แม่น้ำโขงบางจุดในพื้นที่ อ.เมืองนครพนม อ.ธาตุพนม และอ.ท่าอุเทน เกิดหาดทราย สันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งในปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งขอดหนักสุดในรอบหลายปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำจนทำให้ระดับน้ำโขงมีปริมาณต่ำกว่าทุกปี ซึ่งผลจากน้ำโขงแห้งขอดส่งผลกระทบต่อการเดินเรือหาปลาของชาวบ้าน รวมทั้งการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงของเกษตรกร รวมทั้งระบบนิเวศน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

จากสถานการณ์ปริมาณน้ำโขงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในหลายพื้นที่อำเภอ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชที่มีอายุสั้น และเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ได้แก่ หอมแบ่ง คะน้า กะหล่ำ ผักกาดหอม พริก มะเขือ เป็นต้น ในช่วงที่ปริมาณน้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องแนะนำให้เกษตรกรมีการวางแผนการเพาะปลูกโดยคำนึงถึงประมาณน้ำที่ต้องใช้ และชะลอการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของผลผลิตที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ และเน้นให้มีการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกในช่วงนี้จึงอยากขอให้ชะลอการปลูกออกไปก่อน และเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องก่อนตัดสินใจทำการเพาะปลูก ในช่วงนี้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอที่มีพื้นที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามพร้อมให้คำแนะนำกับกลุ่มเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำแนะนำในการวางแผนการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสม การป้องกันโรคและแมลง รวมทั้งการวางระบบการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งหากเกษตรกรต้องการคำแนะนำ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ใกล้บ้าน

ด้านนายสมคิด โพนลม เกษตรกรอำเภอเมืองนครพนม กล่าวว่า ตนเองทำการเพาะปลูกพืชริมฝั่งแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และปลูกพืชผักเพื่อจำหน่ายมากกว่า 30 ชนิด สำหรับในปีนี้ปริมาณน้ำโขงลดลงมากกว่าทุกปี ทำให้ตนเองและเกษตรกรรายกว่า 10 ราย ต้องประสบปัญหาในการใช้น้ำและมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำโขงที่ลดลงทำให้ต้องขยับปั้มสูบน้ำลงไปตามระดับน้ำที่ลดลง และใช้ท่อสำหรับต่อสูบน้ำมายังปั้มน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำการดูดขึ้นไปยังแปลงผักซึ่งห่างจากจุดสูบน้ำ ประมาณ 40-50 เมตร จึงจะสามารถนำน้ำขึ้นมารดแปลงผักได้ ซึ่งหากน้ำโขงลดลงเรื่อยๆก็จะต้องซื้อท่อเพิ่ม และในส่วนของระยะทางในการสูบน้ำเมื่อเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานสิ้นเปลือง ทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มตามไปด้วย ในส่วนพื้นที่ที่น้ำโขงลดลงทำให้เป็นพื้นที่ดอนทรายสามารถเพาะปลูกพืชตระกูลหัวได้ เพราะไม่ต้องใช้น้ำและเป็นพื้นที่ดินทรายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพืชที่เกษตรกรนิยมปลูก เช่น มันแกว ในการเพาะปลูกพืชในทุกปีแม้จะไม่ประสบปัญหาของโรคและแมงเข้าทำลาย แต่ก็กังวลในปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่อาจจะลดลงอีกซึ่งก็จะทำให้พืชผักที่กำลังให้ผลผลิตนั้นอาจจะได้รับผลกระทบได้

Advertisement

นายสมคิด โพนลม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณน้ำที่ลดลงทำให้ตนต้องวางแผนการเพาะปลูกให้ดีและปลูกพืชที่ใช้น้ำที่น้อย อายุสั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เช่น สายยาง และเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นต้น และที่ตนเองต้องปลูกพืชริมฝั่งแม่น้ำโขงในทุกๆปีก็เพราะว่า ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่อื่น จนได้รับอนุญาตให้ทำการเกษตรในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้ ซึ่งในหนึ่งปีจะสามารถทำการเกษตรได้เพียงครั้งเดียว ทำให้ครอบครัวมีรายได้หลักจากการจำหน่ายผักและผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ที่ปลูกริมฝั่งแม่น้ำโขงเท่านั้น ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ที่ช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับครอบครัวมาตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image