อนุ กมธ.จี้หน่วยงานรัฐ เร่งแก้ปัญหานายทุน ลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล รองประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวและสับปะรด สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปแนวทางจากการประชุมอนุ กมธ. เสนอรัฐบาลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทั่วประเทศโดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดกว่า 3 แสนไร่ แม้ว่าขณะนี้ราคามะพร้าวผลมีการซื้อขายหน้าสวนเฉลี่ยผลละ 20 บาทราคาสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากผลิตมีน้อยตามฤดูกาล ขณะที่เครือข่ายชาวสวนเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพของราคาให้มีความยั่งยืนคุ้มกับต้นทุนการผลิตมีการซื้อขายไม่น้อยกว่าผลละ 15 บาท ซึ่งปัจจัยสำคัญอยู่ที่การป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน และการขออนุญาตนำเข้าตามกรอบการค้าระหว่างประเทศที่ต้องพิจารณาข้อมูลผลผลิตในประเทศให้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานรัฐเสนอข้อมูลไม่ตรงกัน ทำให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันตัดสินใจอนุมัตินำเข้าเพื่อทุบราคาผลผลิตในประเทศให้ตกต่ำ

นายวิชิต กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารการนำเข้ามะพร้าวผลจากต่างประเทศให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในประเทศในแต่ละช่วงเวลาเพื่อรักษาระดับราคาไม่ให้มีความผันผวน เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมะพร้าวนำเข้าเพื่อป้องกันผลกระทบจากแมลงศัตรูพืช เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนเกษตรกรในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ขอให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มีใบกำกับการเคลื่อนย้ายมะพร้าวผลภายในประเทศกรณีน้ำหนักบรรทุกเกิน 4,000 กิโลกรัม ( กก.) ขึ้นไป มีการออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ มีบทลงโทษกับผู้ที่กระทำความผิดหากเคลื่อนย้ายมะพร้าวที่ไม่ถูกต้อง สำหรับมะพร้าวที่มีการนำเข้าทุกกรอบการค้ามีการกะเทาะเปลือกภายในโรงานผลิตกะทิที่มีการนำเข้าเท่านั้น

“ขอให้กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรฯร่วมกันติดตามราคามะพร้าวที่เกษตรกรชายได้ ราคาขายส่งมะพร้าวที่ อ.ทับสะแก ราคามะพร้าวขาวส่งโรงงาน ราคามะพร้าวหัวขูดเพื่อบริโภคในประเทศ ราคาขายปลีกกะทิสำเร็จรูปในประเทศและราคากะทิสำเร็จรูปส่งออก เผยแพร่ให้ผู้บริโภคทราบเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน รวมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลปริมาณสต๊อคมะพร้าวในแต่ละจุด โดยเฉพาะล้งรวบรวมมะพร้าวขายส่ง ล้งกะเทาะมะพร้าวขาว และโรงงานผลิตกะทิสำเร็จรูปส่งออก เพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูล และความต้องการผลผลิตเป็นไปตามกลไกการตลาดจากฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลตัวเลขการส่งออกของโรงงานกะทิควรสอดคล้องกับข้อมูลการใช้ผลิตในประเทศและมะพร้าวที่สั่งนำเข้าอย่างถูกต้อง“ นายวิชิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image