ผู้ว่าฯขอนแก่น วอนชาวบ้านใช้น้ำอย่างประหยัด หวั่นไม่มีน้ำกิน-ใช้

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว สภาพฝนในเขตความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 6 ไม่มีฝนตกในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด คือ ขอนแก่นมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และจ.ชัยภูมิ แต่สถานการณ์น้ำท่า ซึ่งมีแม่น้ำชีตอนบน ตอนกลาง ทรงตัว แต่แม่น้ำชีตอนล่างเพิ่มขึ้น และเขื่อนอุบลรัตน์มีความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 0.65 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าน้อยมาก ส่วนเขื่อนลำปาวความจุเก็บกัก 1,980 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 1,565.00 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 1,465.00 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าสภาพปกติ เขื่อนจุฬาภรณ์ ความจุเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 50.22 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 13.00 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าน้อยมาก ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างฯขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440.35 ล้าน ลบ.ม. ความจุวันนี้ 278.65 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 242.47 ล้าน ลบ.ม

.
อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 6 มั่นใจจะสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้ในการอุปโภคบริโภค และประปา ตามด้วยจัดสรรเพื่อรักษาระบบนิเวศในลำน้ำ เพื่อการเกษตร และการอุตสาหกรรมตามลำดับ

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ที่อ่างเก็บน้ำแก่งละว้า อ.บ้านแฮด ,อ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว อ.ชนบท, และ บึงกุดเค้า อ.มัญจาคีรี พบว่า อ่างเก็บน้ำแก่งละว้า บ้านแฮด ซึ่งเจอปรากฎการณ์อิทธิพลจากพายุโพดุล เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำแก่งละว้าจนเต็มความจุอ่าง คือ 45 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเพียงพอในการบริหารจัดการน้ำไปจนถึงฤดูฝนหน้าได้ ในการผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยง พื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.บ้านแฮด อ.บ้านไผ่ และ อ.โนนศิลา

นอกจากนี้จ.ขอนแก่น แบ่งพื้นที่ความหนักเบาของภัยแล้งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนักที่สุด คือ ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งได้มีการเตรียมการและนำเสนอปัญหาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดและจะได้มีมาตรการในการป้องกันเป็นเบื้องต้น ส่วนพื้นที่มีสถานการณ์เบาบาง คือทางด้านทิศเหนือของจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ ทางด้านทิศใต้ จะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่คือ แก่งละว้าและห้วยละเลิงหวาย และทางจังหวัด ได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองที่จะเข้ามาเสริมในพื้นที่แก่งละว้าอีกจำนวน 3 บึง ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ยังคงสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติทั้งภาคการประมงและการเกษตร ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันตก ที่ อ.ภูผาม่าน จะมีขุมเหมืองเก่า ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้จำนวน 2 ขุม ขุมละ 1 ล้าน ลบ.ม. ใช้เป็นขุมน้ำที่สำรองได้ แต่ในบางอำเภอจะต้องมีการขุดบ่อบาดาลใหม่ ซึ่งได้ให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำแผนที่น้ำบาดาล หากพื้นที่ใดมีความต้องการใช้น้ำสามารถดำเนินการได้ และประเมินการใช้น้ำตามแผนการใช้น้ำที่วางไว้ เพื่อให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2563

Advertisement

“อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณกักเก็บน้ำ เหลืออยู่ 570 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ซึ่งมีการใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 11 ล้านลบ.ม. หรือ ร้อยละ -1 จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำน้อย โดยเน้นระบายน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค และรักษาระบบนิเวศน์ตามลำน้ำเท่านั้น จะไม่สามารถส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรได้ จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด โดยได้สั่งการให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รีบแจ้งชาวบ้านในพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ในเขตของตนเองให้ทราบว่า ขณะนี้น้ำที่จะผลิตน้ำประปามีน้อย ให้ทุกคนใช้น้ำน้อยๆ ประหยัดน้ำให้มากที่สุด พร้อมได้ประกาศห้ามให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง หยุดเลี้ยง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ ห้ามเกษตรกรทำนาปรังและให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย” ผวจ.ขอนแก่น กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image