นักวิชาการด้าน กม.แนะให้ ‘ท้องถิ่น’ ทำประชาพิจารณ์ใช้หรือไม่ใช้ 3 สารเคมีในพื้นที่

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 และ 17 ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของ อปท. ด้านการสาธารณสุข รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม และปัญหามลพิษจาการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว การใช้สารเคมีที่เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน อปท.สามารถตราข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติเพื่อห้ามนำมาใช้ในเขต อปท. อาจกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะกำหนดโทษจำคุกได้ถึง 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท แต่ปัจจุบันยังไม่มี อบจ. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ตราข้อบัญญัติในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเกรงมีผลกระทบกับคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง

“แม้ว่ากฎหมาย อปท.ได้ให้อำนาจไว้ โดยพิจารณาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาลงความเห็นร่วมกันว่าจะยินยอมให้นำ 3 สารพิษ ที่มีข้อห้ามเข้ามาใช้ในพื้นที่หรือไม่ หากได้ข้อยุติว่าไม่ควรนำมาใช้เทศบาล หรือ อบต. ต้องตราเป็นเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติ ห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน เพื่อให้ อปท.สามารถสร้างจุดขายเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าพืชผลทางการเกษตรได้โดยยืนยันว่าพืชผักที่ผลิตในเขต อปท.ปลอดจาก 3 สารพิษ ขณะที่ข้อห้ามการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร โดยหลักการไม่ควรไปจำกัดหรือมีข้อห้ามในภาพรวมระดับประเทศ แต่ควรให้ อปท. แต่ละแห่งพิจารณาใช้กฎหมายตามความเหมาะสมตามความต้องการของประชาชน” นายบรรณ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image