อ่างเก็บน้ำเพชรบูรณ์ปริมาณพอใช้ ห่วง ‘อ่างป่าแดง’ น้ำแห้ง เม.ย.63 จ่อเข็นมาตรการแก้วิกฤตรองรับ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายเชษฐา ดิษยมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บกักทั้ง 11 แห่งของ จ.เพชรบูรณ์ ในปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างค่อนข้างน้อย จากเกณฑ์เฉลี่ยปริมาณฝนตกซึ่งลดลงเหลือแค่ราว 700 มิลลิเมตร (มม.) โดยได้น้ำจากมรสุมที่เข้ามาจนคลายวิกฤตไปได้ ทำให้ได้น้ำมาเพียงแค่พอใช้เท่านั้น แต่เมื่อปีที่ผ่านมาในภาคการเกษตรไม่ได้ใช้น้ำเลย โดยเฉพาะอ่างป่าแดง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ทำให้เกษตรกรอดใช้น้ำมา 1 ปี ฉะนั้นในปีนี้จึงต้องจ่ายน้ำให้ทำการเกษตร แต่เกณฑ์การปล่อยน้ำก็ไม่ได้ให้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการเชิญเกษตรกรมาตกลงเพื่อกันน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุด

นายเชษฐากล่าวว่า สถานการณ์อ่างโดยรวมทั้ง 11 แห่ง ในด้านการเกษตรไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว ส่วนน้ำต้นทุนภาพรวม ณ ปัจจุบันนี้เหลือราว 30 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเพียงพออุปโภคบริโภคให้ผ่านพ้นฤดูกาลนี้เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุน รวมทั้งประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนอ่างป่าแดงเมื่อต้นปี 2562 เกิดวิกฤต โดยประเมินน้ำจะหมดอ่างในราวกลางเดือนเมษายน ซึ่งในปี 2563 ก็ประเมินว่าสถานการณ์น้ำจะหมดอ่างใกล้เคียงกับปี 2562 เช่นเดียวกัน และจะต้องเข้ามาตรการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตน้ำ

“ได้นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ไปแล้ว ผู้ว่าฯได้ให้นโยบายโดยจะให้พยายามผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนลงมาช่วย โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีการผันน้ำจากอ่างป่าเลาและอ่างท่าพลมาช่วย แต่เวลานี้ทั้งสองอ่างไม่มีน้ำจึงทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผน โดยจะต้องไปผันน้ำจากอ่างน้ำก้อ อ.หล่มสัก ซึ่งมีปริมาณน้ำเก็บกักราว 50% โดยสามารถโรยน้ำมาช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ยินยอมปล่อยน้ำลงมา และต้องควบคุมการสูบน้ำกลางทาง เพื่อให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักให้ได้ ซึ่งอ่างน้ำก้อระยะทางค่อนไกลกว่าอ่างท่าพล โดยอ่างท่าพลระยะทางแค่ราว 20 กม.เศษ กว่าจะไหลมาถึงจุดสูบน้ำก็ใช้ระยะเวลาเกือบ 1 เดือนกว่าจะถึง ฉะนั้น ระยะทางจากอ่างน้ำก้อราว 60-70 กม. ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า จึงต้องอาศัยความร่วมมือค่อนข้างมาก

“ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจว่า เส้นทางน้ำจากอ่างน้ำก้อไปถึงแม่น้ำป่าสัก และไหลมาถึงจุดสูบน้ำบริเวณหลังวัดสนธิกร บริเวณคลองปากบู่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ขณะเดียวกันทางจังหวัดมีการขอเครื่องสูบน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ รวมทั้งทางกรมชลประทานจะส่งเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งให้ ในขณะที่ทางการประปาจะต้องสนับสนุนค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำเหล่านี้” นายเชษฐากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image