ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ สั่งเอ็กซเรย์การใช้ประโยชน์ที่ดินเขาค้อ

ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์สั่งเอ็กซเรย์การใช้ประโยชน์ที่ดินเขาค้อ แยกกลุ่มผู้ถือครองและกลุ่มโรงแรมรีสอร์ทในเขตป่า แบบลงลึกในระดับหมู่บ้านเพื่อจัดทำผังป่าไม้ หลังจังหวัดมีมติเสนอปลดล็อคโรงแรมรีสอร์ทบุกรุกป่าตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/62

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการ การจัดที่ดิน คทช.อำเภอเขาค้อ ที่ห้องประชุมอบต.เขาค้อ อ.เขาค้อเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งมีการสรุปข้อมูลความคืบหน้าถึงการนำเสนอจัดสรรพื้นที่ป่าให้แก่ราษฎรอาสาสมัคร(รอส.)เขาค้อ 491 ราย ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และหารือประเด็นโรงแรมที่ติดข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/62 ในข้อ 5 โดยเฉพาะที่เขาค้อมีโรงแรมรีสอร์ทที่ได้ยื่นแจ้งไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 4 ตำบลได้แก่ ต.เขาค้อ ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วงและต.หนองแม่นาจำนวน 409 ราย แยกเป็น รอส.16 ราย ทายาท รอส. 24 ราย คนนอก 369 ราย

Advertisement

โดยนายสืบศักดิ์กล่าวย้ำว่า ทางจังหวัดไม่ได้ดำเนินการโดยคิดเองแต่ทำตามคำสั่ง คสช.ที่ให้แก้ปัญหาเกี่ยวฏับโรงแรม ส่วนการแก้ปัญหาจะได้ผลหรือเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ คทช.ส่วนจังหวัดแค่เพียงนำเสนอแนวทางแก้ไขโดยไใขัดต่อกฎหมายเท่านั้น จากนั้นนายสืบศักดิ์ได้สั่งให้อำเภอเขาค้อโดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูลลงลึกถึงขอบเขตการถือครองที่ดินของลูกบ้าน ทั้งจำนวนเนื้อที่และหมู่บ้านมีครอบครัวกี่ราย

นอกจากนี้ยังให้สำรวจเจ้าของที่ดินเดิม รวมทั้งหากมีการเปลี่ยนมือให้แจ้งผู้ถือครองในปัจจุบันเป็นตัวและให้มีการรายงานตัว เพื่อทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสัมโนป่าไม้ พร้อมกำหนดว่าอยู่ในลุ่มน้ำชั้นไหน โดยให้ประกาศรายชื่อและขอมูลทางเว็บไซต์ รวมทั้งกำหนดเวลาหากจะมีการคัดค้าน จากนั้นที่ประชุมยังกำหนดช่วงเวลาการสำรวจฯร่วมกับทางป่าไม้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ส่วนกรณีโรงแรม 206 รายทั้งอำเภอฯที่ไม่ได้ยื่นให้ข้อมูลจดแจ้งให้เดินหน้าจับกุมดำเนินคดี

“ให้ผู้ถือครองที่ดินมารายงานตัว จากนั้นจัดแยกประเภทว่าอยู่ในตระกร้าไหนและมีรายไหนไม่ยอมเข้า โดยให้ลงรายละเอียดในสัมโนป่าไม้หรือผังป่าไม้ จากนั้นจะมีการใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 ตรวจสอบว่า อยู่ในป่าประเภทไหนและลุ่มน้ำชั้นไหน และกลุ่มไหนอยู่ก่อนปี 2541 หรือกลุ่มไหนอยู่ก่อนปี 2557 และมีรายไหนอยู่หลังปี 2557 ไม่งั้นไม่จบและแก้ไขไม่ได้สักที ปัญหาคือปัจจุบันต้องมีข้อมูลถึงจะแก้ได้”นายสืบศักดิ์กล่าวย้ำ

Advertisement

ทั้งนี้มีผู้ใหญ่บ้านสอบถามถึงผู้ถือครองไม่เป็นนอมิมีไม่ใช่ตัวจริง และบางรายไม่ยอมให้ข้อมูลหรือแสดงตน โดยขอให้ทางอำเภอกำหนดให้เจ้าของรีสอร์ทตัวจริงมาให้ข้อมูล ซึ่งทางอัยการจังหวัดฯชี้แจงว่า แม้จะมีการปกปิดแต่เมื่อใช้จีพีเอสตรวจสอบก็รู้พิกัดแล้ว หากไม่แสดงตัวหรือหลบหนีไปก็จะกลายเป็นพื้นที่ตรวจยึดโดยไม่พบผู้กระทำผิด หลังมีการกำหนดทามไลน์ชัดเจนจะรวบรวมข้อมูลเสนอทางอัยการภาค 6 ให้ช่วยพิจารณาระงับการดำเนินคคีไว้ชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ถูกเำเนินคดี ในขณะที่ผู้ว่าฯย้ำว่าอย่างน้อยการแสดงตนเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ แต่ข้อเท็จจริงหากเป็นการบุกรุกก็ไม่รอด

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมยังรายงานข้อมูลการจับกุมดำเนินคดีโรงแรมรีสอร์ทบุกรุกป่าเขาค้อ โดยในปี 2553-2554 แจ้งความโดยทหาร 33 ราย ส่งฟ้อง 4 ราย รับสารภาพ 4 ราย ยกฟ้อง 1 ราย , ปี 2554 แจ้งความโดยป่าไม้ 48 คดี ทราบผล 9 คดี ยุติการดำเนินคดี 2 คดี งดสอบสวน 2 คดี สั่งไม่ฟ้อง 26 คดี ยังไม่ทราบผล 9 คดี และในปี 2560 ถึงปัจจุบัน ป่าไม้แจ้งความ 154 คดี ส่งฟ้อง 131 คดี ไม่ฟ้อง 2 ราย ระหว่างส่งฟ้อง 20 ราย ส่วนการกำหนดทามไลน์สำรวจที่ดินและการครอบครองนั้น สาเหตุอีกอย่างก็เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ถูกดำเนินคดี ให้นำไปประกอบหลักฐานการพิจารณาคดีทั้งในชั้นตำรวจ อัยการและศาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image