‘ทนายรณณรงค์’ นำทีมลง ‘เกาะพะงัน’ เก็บข้อมูลเอาผิดนายทุนรุกหาดสาธารณะ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเพชรพะงัน ลงพื้นที่ชายหาดแหลมสน บ้านศรีธนู ม.8 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนมีกลุ่มนายทุนบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ เตรียมรวบรวมในสำนวนคดีเอาผิดกับผู้ที่บุกรุก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายรณณรงค์ และ นายพิทยา อินทร์คง นายกเทศบาลตำบลเพชรพะงัน นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่บริเวณแหลมสน รวมถึงเอกสารการพิพากษาของศาลชั้นฎีกา ไปยื่นเรื่องต่อผู้บังคับการปราบปราม เพื่อเอาผิดกับกลุ่มบุคคลที่บุกรุกหาดแหลมสนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เนื้อที่กว่า 119 ไร่ 60 ตารางวา โดยใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้าแทรกแซงจนเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายไม่ได้

นายพิทยา กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นทะเล ต่อมามีการขุดเหมืองแร่ ทำให้เกิดพื้นที่งอกขึ้นมาใหม่ จำนวน 119 ไร่ และมีการบุกรุกจากผู้ประกอบการและนายทุน จำนวน 12 ราย จากการตรวจสอบพบว่าปี 2546 ศาลมีคำพิพากษาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน

Advertisement

ด้านนายรณณรงค์ กล่าวว่า มาดูสถานที่จริงเพื่อประกอบข้อมูลตามเอกสาร ซึ่งยังมีหลายอย่างที่ยังไม่ตรงกัน ข้อมูลที่ได้ไปในวันนี้จะนำไปประมวลผลว่าจะดำเนินอย่างไรต่อไป ส่วนความผิดปกติที่พบในเบื้องต้นคือ มีการก่อสร้างอาคาร

ทางด้านนายจักรพงษ์ ยวนานนท์ หนึ่งในผู้ประกอบการบังกะโลในพื้นที่หาดแหลมสน กล่าวว่า ตนและชาวบ้านรายอื่นได้เข้ามาอาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ในช่วงปี 2526 เป็นต้นมา ต่อมาในปี 2529 ได้ทำเริ่มบังกะโลให้ลูกค้ามาพัก ก่อนที่จะมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลตำบลเพชรพะงัน มีเพียงสุขาภิบาลเกาะพะงันดูแลในพื้นที่บ้านท้องศาลา พื้นที่บ้านใต้บางส่วน และชายหาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกิดจากการพัดพาของกระแสน้ำ เอาทรายที่ไหลมาจากการทำเหมืองดีบุกเก่าในสมัยก่อนมาอยู่ทางฝั่งนี้ทำให้เกิดเป็นที่งอก ทุกคนที่มีหน้าสวนอยู่ข้างบนก็เข้ามาจับจองพื้นที่ เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินงอกของหน้าสวนตัวเอง ต่อมาทราบว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงได้ไปดำเนินการขออาศัยที่ทำกินจากกรมป่าไม้ แต่ได้มีข้อบังคับว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาเทศบาลด้วย แต่ว่าเทศบาลเพชรพะงันไม่ดำเนินการให้ โดยให้เหตุผลว่าที่ดินนี้ยังไม่เป็นของใครแน่นอน ถ้ามีความชัดเจนจึงจะดำเนินการให้

Advertisement

“การที่นายกฯ ไปออกสื่อว่าพวกกระผมเป็นนายทุน อันนี้บิดเบือนความจริง เพราะพวกผมเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ และเป็นคนที่นี่มาตลอด และไปพูดว่าบริเวณนี้เป็นแดนสนธยา ไม่มีใครสามารถเดินผ่านเข้าไปทำมาหากินได้ เป็นผู้มีอิทธิพล อันนี้เป็นข้อกังขาขอชาวบ้านที่ไปพูดบิดเบือนความจริง และไม่รู้ไปเอาข้อมูลมาจากไหน” นายจักรพงษ์ กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 หน่วยป้องกันรักษาป่า สฎ16 (เกาะสมุย) ได้ชี้แจงปัญหากรณีหาดแหลมสนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ชาวบ้านได้เข้ามายึดถือครอบครองบริเวณดังกล่าวจริง จำนวน 14 ราย 15 แปลง ตั้งแต่ปี 2526 โดยได้รับมอบจากบริษัท เลี้ยงฮวด ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ โดยให้ นายจรัส ยวนานนท์ เป็นผู้ดูแลพื้นที่ผู้รักษาเขตประทานและผลประโยชน์ของบริษัท เมื่อปี 2529 บริษัทอนุญาตให้นายจรัสปลูกบังกะโลอยู่ในเนื้อที่เขตประทานบัตรของเหมือง หลังจากหมดประทานบัตรเหมืองแร่ นายจรัสได้ทำกินอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยได้มอบให้ลูกหลานดูแลต่อมาจนถึงปัจจุบัน

“เมื่อปี 2533 ได้มีการรังวัดเพื่อออกบัญชีหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากมีผู้คัดค้าน และสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ส่วนแยกเกาะพงัน แจ้งว่ายังไม่มีการออกบัญชีนสล.แต่อย่างใด และในส่วนที่ดินพื้นที่เกาะ จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ครอบอยู่ตามมาตรา4 (1) โดยที่คำว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมือหาดแหลมสนไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมาย หรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะหรือการออกบัญชี นสล.ก็ถือว่ายังคงสภาพพื้นที่ป่า ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ครอบครองอยู่” แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image