ม็อบค้านท่อก๊าซสู้คดีนาน 17 ปี ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฟ้อง 6 ตร.ปมสลายชุมนุมปี’45

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ธันวาคม ที่ศาลจังหวัดสงขลา ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในคดีชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯและโรงแยกก๊าซฯธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ฟ้องตำรวจ ตั้งแต่อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่ตำรวจสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ข้อหา ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ มาตรา 157 หลังจากเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากจำเลยที่ 1 คือ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร.ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยตัวแทนชาวบ้านและเอ็นจีโอได้เดินทางมาฟังและให้กำลังใจอย่างคึกคัก

สำหรับคดีนี้ ชาวบ้านและเอ็นจีโอที่เป็นผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 โดย ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 6 นาย ได้แก่ พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาในขณะนั้น รวมถึง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะเกิดเหตุ พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข ร.ต.อ.เล็ก มียัง ร.ต.ท.บัณทูรย์ บุญเครือ และ ร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์ ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย

คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามกฎหมาย ซึ่งการสลายการชุมนุมเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฟ้องต่อศาลปกครองด้วย โดยทั้ง ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาทั้งสองศาลว่า การสั่งให้สลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหาย อันเกิดจากการถูกละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม

ต่อมา เวลา 11.40 น. ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น โดยให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คือ ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย สร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้าน เนื่องจากก่อนหน้านี้ในคดีที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยนั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา ก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกัน

Advertisement

นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคดีนี้ สรุปบทเรียนว่า วันนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ คำพิพากษาของศาลต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นฝ่ายกล่าวหาชาวบ้าน 2 คดีก่อนหน้านี้ ซึ่ง 2 คดีก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่เป็นจำเลย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฟ้อง ข้อหาที่ชาวบ้านเป็นจำเลย และยังมีคำพิพากษาของศาลปกครองและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ชาวบ้านเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคำพิพากษาศาล ของสำนวนคดีก่อนหน้านี้และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญไว้ว่า การชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซเป็นการชุมนุมโดยความสงบปราศจากอาวุธ ดังนั้น คดีนี้คือคดีสุดท้ายซึ่งชาวบ้านเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจบ้างให้รู้ว่าการกระทำของเจ้าพนักงานที่เกินกว่าเหตุก็จะตกเป็นจำเลยได้ แต่เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เราเคารพคำพิพากษาแต่ตั้งข้อสังเกตว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งวินิจฉัยแล้วเป็นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์เดียวกัน สาธารณชนก็คงจะต้องพิจารณา นักกฎหมายก็ต้องพิจารณา แต่ถามว่าเรายังด้วยทีเดียวไหมก็ยังเห็นต่างอยู่ อย่างไรก็ตาม คิดว่าโครงการท่อส่งก๊าซฯนั้นขาดการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อยากจะฝากไว้ว่าหากจะทำโครงการใดแล้วถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโครงการก็จะไปได้ดี

ด้านนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้นั้นมีมุมมองใน 2 ระดับ คือ ในส่วนนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ คดีเดียวกันมีคำพิพากษา 2 ชิ้น ในคดีที่ตำรวจฟ้องชาวบ้าน การพิสูจน์ 3 ศาลฝ่ายชาวบ้านไม่ผิด ฝ่ายชาวบ้านจึงฟ้องกลับเพราะชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ แต่คำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ก็บอกว่าตำรวจไม่ผิด เพราะมีการประเมินว่าจะเกิดความรุนแรง โดยนำไปโยงกับการล้มประชาพิจารณ์ในโครงการ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน

นายบรรจงกล่าวว่า ในส่วนนักวิชาการ ต้องเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาเรียนรู้ แต่ในส่วนของภาคประชาชนนั้น บทเรียนที่ได้คือ ในการเตรียมการชุมนุมต่างๆ คำพิพากษาเป็นประโยชน์ กรณีที่ฝ่ายตำรวจตั้งข้อสังเกต เรียนรู้ว่าการชุมนุมต้องยึดให้มั่นว่าจะต้องไม่มีอาวุธหรือสิ่งใดที่ถูกมองว่าเป็นอาวุธ เจ้าหน้าที่ต้องการค้นรถก็ยินยอมให้ตรวจค้น แต่ที่เป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.จะนะ จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ถ้าชาวบ้านเห็นว่าตำรวจทำขนาดนี้ยังไม่ผิด กลัวว่าจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแล้วอาจใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นแทน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image