‘ผู้ว่าฯนครพนม’ สั่งขุดหาคิวดินหาย 4 โครงการส่อทุจริตหมกเม็ดเบิกงบภัยแล้ง 200 ล.

ขุดหาคิวดิน – เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สั่งการให้ นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว ปลัดจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายณัฐพล สุริยนต์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดนครพนม นายไพโรจ์ โกพล นายช่างอาวุโส สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครพนม นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทีมตรวจสอบเซอร์เวย์ ป้องกันการทุจริตงบพัฒนาแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง จำนวน 200 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบหาปริมาณคิวดิน หลังเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้นำทีม ลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีตัวแทนชาวบ้านร้องเรียน เกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง อ.นาแก ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล สนับสนุนให้ จ.นครพนม จำนวน 200 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยได้จัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ ผ่านอำเภอ ทั้ง 12 อำเภอ ซึ่งมอบหมายให้ทางอำเภอ ดำเนินการหาผู้รับจ้าง ด้วยวิธีตกลงราคา โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท

ส่วน อ.นาแก ได้รับงบประมาณ จำนวน ประมาณ 13 ล้านบาท รวม 32 โครงการ แต่มี จำนวน 4 โครงการ ชาวบ้าน ร้องเรียนพบข้อพิรุธ ทำงานขาดมาตรฐาน จึงมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม จำนวน 4 โครงการ ในพื้นที่ ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม โครงการละประมาณ 5 แสนบาท ดำเนินการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำ จากนั้นได้มีการระดมเจ้าหน้าที่ ทีมเซอร์เวย์ ทำการสำรวจ วัดปริมาณดิน เพื่อให้ได้มาตรฐานตามแบบสัญญาจ้าง ซึ่งแต่ละโครงการมีปริมาณงานดิน ประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 12,000 คิวดิน และผลการสำรวจวัดปริมาณคิวดินเบื้องต้นพบว่า มีคิวดินหายจากโครงการ ไม่ตรงตามแบบสัญญาจ้าง ประมาณเกือบ 7,000 คิว โดยผู้รับจ้างเอกชนตามสัญญา อ้างว่า มีการขุดขนดินที่เหลือไปไว้ ที่บริเวณพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ใกล้วัดฟ้าชื่นสุวรรณตูมภา ต.นาคู่ อ.นาแก ห่างจากโครงการขุดลอกประมาณ 2 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ทางด้านนายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว ปลัดจังหวัดนครพนม ได้นำทีมสำรวจ ลงพื้นที่ พร้อมนำเครื่องจักรรถแบ๊กโฮ เข้าไปขุดสำรวจ ผิวดิน ในเนื้อที่ผู้รับจ้างอ้างว่า มีการขุดขนดินออกมาจากโครงการ เพื่อปรับถมในเนื้อที่ ประมาณ 2 ไร่ จำนวน 9 หลุม ระดับความลึก ประมาณ 2 เมตร เพื่อตรวจหาความแตกต่าง ยืนยันสภาพดินที่นำมาปรับถม กับดินเดิม พร้อมคำนวณปริมาณคิวดิน ตามที่ผู้รับจ้าง ป้องกันการทุจริต ฉวยโอกาสหมกเม็ดแสวงประโยชน์จากโครงการ กระทบภาษีประชาชน ซึ่งผลการขุดเจาะสำรวจ พบปริมาณคิวดินทั้งหมด ประมาณ เกือบ 8,000 คิวดิน ถือว่ามีปริมาณตามที่กล่าวอ้าง ส่วนที่เกินถือว่าเป็นประโยชน์แก่รัฐ พร้อมทำบันทึก สรุปผลการตรวจสอบ และแนบหลักฐานการตรวจรับงาน ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ และเป็นต้นแบบนำร่อง ในการตรวจสอบ ทั้ง 12 อำเภอ รวม 371 โครงการ จะต้องได้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ทางด้าน นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม ได้ย้ำเตือนไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่ดูแลกำกับติดตามการตรวจรับงาน และผู้รับจ้าง ให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน การตรวจสอบไม่ใช่การจับผิด แต่ต้องการมาตรฐานในการทำโครงการให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด แต่หากพบกระทำผิด ยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น

Advertisement

นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว ปลัดจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง ในพื้นที่ อ.นาแก เกี่ยวกับมาตรฐาน ในการดำเนินงาน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กำชับให้มีการตรวจ ติดตามใกล้ชิด ไม่ให้มีการทุจริต และให้ปริมาณงานเป็นไปแบบตามสัญญาจ้าง และได้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบ ติดตาม ตั้งแต่การนำทีมเซอร์เวย์ลงพื้นที่ ตรวจสอบหาปริมาณดินให้ได้มาตรฐาน ส่วนหนึ่งในพื้นที่ 4 จุด ในพื้นที่ ต.นาคู่ อ.นาแก หลังมีชาวบ้านร้องเรียนให้ตรวจสอบเกี่ยวกับปริมาณงานดิน ไม่ครบตามแบบมาตรฐาน ซึ่งส่วนหนึ่งทางผู้รับจ้างได้อ้างว่า มีการขุดขนออกไปปรับถมที่สาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน จึงมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าปริมาณงานดิน ที่มีการขุดทั้ง 4 โครงการ ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการขุดขนดินออกจากพื้นที่โครงการไปปรับถมที่สาธารณประโยชน์บางส่วน จึงได้มีการติดตามตรวจสอบขุดสำรวจสภาพดินตามกล่าวอ้าง ผลการตรวจพบว่า มีปริมาณดินครบ ตามแบบ อาจจะมีมากเกินหรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ถือว่าเป็นไปตามแบบ จึงได้มีการสรุปนำเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการตามนั้นตอน และเป็นพื้นที่ต้นแบบ ให้อำเภออื่นๆ ดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มีข้อสงสัย หรือพบข้อพิรุธสามารถแจ้งให้จังหวัดตรวจสอบติดตามได้ทุกโครงการ เพื่อรักษาผลประโยชน์เงินภาษีประชาชน และป้องกันการทุจริต ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามทุกอำเภอ จนกว่าจะแล้วเสร็จทุกโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image