ชาวบึงกาฬมีเฮ มจพ.วิจัยนวัตกรรมยางพาราต่อเนื่อง ย้ำ ถนนพังไม่ใช่สูตรของสถาบัน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 นายฐิตินันท์ อึ้งตระกูล วิศวกร สังกัด บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) กล่าวว่า ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับนายพงศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ (ตำแหน่ง ณ ตอนนั้น) และนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ร่วมเป็นพยาน ในการสร้างถนนราดยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ สร้างผิวถนนจากยางพารา สร้างถนนกันลื่นจากยางพารา และสร้างถนนป้องกันการทรุดตัวจากยางพารา ณ จังหวัดบึงกาฬ ทั้งนี้ ถนนยางพาราดินซีเมนต์เป็นงานวิจัยที่ รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. ได้เริ่มบุกเบิกและคิดค้นขึ้น โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ร่วมกับหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์

นายฐิตินันท์กล่าวว่า งานวิจัยที่ มจพ.ร่วมกับบึงกาฬ หลักๆ คือเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ โดยมีการก่อสร้างถนนยางพาราเส้นแรกในประเทศไทยที่ อ.เซกา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ระยะทาง 300 เมตร ใช้ปริมาณน้ำยางสด 3,600 กิโลกรัม โดยใช้น้ำยางสดในพื้นที่บึงกาฬที่มีค่า DRC หรือปริมาณเนื้อยางที่อยู่ในน้ำยาง ไม่น้อยกว่า 30 ทางสหกรณ์หรือชาวสวนยางจึงต้องคัดเลือกน้ำยางที่มีค่า DRC มาส่งในการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ จากนั้นมีการสร้างเส้นทางที่ 2 ในบึงกาฬที่บ้านโคกนิยม หมู่ 2 ต.วังชมภู อ.พรเจริญ เชื่อมโยงกับบ้านตาลเดี่ยว หมู่ 4 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ระยะทาง 300 เมตร ใช้ปริมาณน้ำยางสด 3,600 กิโลกรัม สำหรับนวัตกรรมผิวถนนกันลื่นที่ทำจากยางพารายังเป็นนวัตกรรมใหม่ของ รศ.ดร.ระพีพันธ์อยู่ แต่ยังไม่ได้นำเสนออย่างเป็นทางการกับ อบจ.บึงกาฬ ว่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี

“การก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ในประเทศไทยโดยใช้สูตรของ มจพ.ดำเนินไปแล้วกว่า 19 แห่ง รวมปริมาณน้ำยางสดที่ใช้ราว 178 ตัน ยืนยันว่าการก่อสร้างถนนด้วยสูตรของ มจพ.ไม่เคยเกิดการพังเสียหาย สามารถลงไปดูได้เลย ดังนั้น หากมีข่าวออกมา สามารถตรวจสอบได้ว่าไม่ใช่การก่อสร้างตามสูตร มจพ. อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถนำถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปเปรียบเทียบกับถนนยางมะตอย หรือถนนซีเมนต์ได้ แต่ควรเปรียบเทียบกับดินลูกรังเดิม เพราะเราปรับปรุงถนนดินลูกรังโดยการเติมน้ำยางพาราสดลงไป ข้อดีคือป้องกันการซึมผ่านน้ำได้ดี มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับถนนยางมะตอยจะเป็นวัสดุต่างประเภทกัน” นายฐิตินันท์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image