อธิบดีชลประทานคาดครึ่งแรกปี 63 ‘เจ้าพระยา’ ปริมาณน้ำต่ำกว่าปกติ เจอ ‘ภัยแล้ง’ แน่ ภาคตอ.เสี่ยงสุด

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งมีปริมาณลดน้อยลง เช่นเดียวกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ปี 2522 ที่ประสบปัญหาภัยแล้งสูงสุดในรอบ 60 ปี รองลงมาคือปี 2562 ที่มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 16% และอันดับ 3 คือปี 2535 ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงเดือนมกราคม ว่าจะใกล้เคียงกับค่าปกติ แต่ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2563 จะต่ำกว่าค่าปกติ ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหน้า ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งแน่นอน โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ ภาคตะวันออก

นายทองเปลว กล่าวว่า ทั้งนี้ หากคุมการใช้น้ำภาคเกษตรไม่ได้ ปล่อยระบายน้ำหายกลางทาง ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาดงกล่าว ผลการส่งน้ำยังไม่คุมเข้ม จะใช้น้ำมากกว่าแผนแนวโน้มอย่างนี้ปีหน้าความแห้งแล้งทวีความรุนแรงเกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทุกกรมในกระทรวงเกษตร ทำงานเชิงบูรณาการป้องกันปัญหาภัยแล้ง โดยเร่งด่วนขอให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดท้องที่ช่วยคุมการใช้ทุกระดับตำบล หมู่บ้าน

ขณะที่ สถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดย 4 เขื่อนใหญ่ (เขื่อนภูมิพลสิริกิติ์ แควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ได้จัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563) เป็นน้ำใช้การได้ 4,044 ล้าน ลบ.ม. ใช้ไปแล้ว 1,044 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับต้องใช้น้ำเก็นแผนจัดสรรน้ำ 200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4% จึงได้เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จากแผนเดิมวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เป็น 28.88 ล้าน ลบ.ม. ในระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2563 เพื่อผลิตประปาและรักษาระบบนิเวศตลอดลำน้ำ ตั้งแต่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาผลักดันน้ำทะเลจนถึงอ่าวไทย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสาแลจังหวัดปทุมธานีมีระดับ 0.28 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำนนทบุรีจ.นนทบุรี 4.73 กรัมต่อลิตร ท่ากรมชลประทานกรุงเทพ 6.06 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 3 จุด โดยต้องคุมค่าความเค็มให้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตรสำหรับผลิตประปาและการเกษตร 2 กรัม

“ต้องรักษาระดับน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทไม่ให้ต่ำกว่า 13.33 ม.รทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) โดยระบายผ่านเขื่อน 85 ลบ.ม. ต่อวินาที ที่ผ่านมาการปล่อยน้ำตามแผนพบว่ามีน้ำหายระหว่างทาง จากระบบมีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรขอให้หยุดสูบตั้งแต่ จ.กำแพงเพชร ลงมาจนถึงเขื่อนเจ้าพระยา หากไม่หยุดจะทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำน้อยลงมาก ส่งผลรักษานิเวศทุกลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา กระทบการผลักดันน้ำเค็ม หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำกว่า 13.2 ม.รทก. จะเป็นผลทำให้มีปัญหาต่อการดันน้ำเข้าระบบชลประทานคลองสาขาทั้งฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำเจ้าพระยากระทบระบบนิเวศทุกคลอง กระทบการผลิตประปาทั้งท้องถิ่นภูมิภาคและประปานครหลวง” นายทองเปลว กล่าว

Advertisement

นายทองเปลว กล่าวว่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อให้มีปริมาณในการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้าระบบสถานสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี ขณะนี้ยังน่าห่วงเพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 ต้องปล่อยระบายน้ำดันน้ำเค็ม ที่บางช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคุมการใช้น้ำอย่างเข้มงวดไม่ได้เท่ากับปี 2558 ที่มีรัฐบาล คสช. สามารถคุมน้ำไม่หายไว้ได้หลายร้อยล้าน ลบ.ม. ปีนี้มีปัญหาน้ำหายกลางทางเพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 1.3 ล้านไร่ แม้ได้ประกาศล่วงหน้าไม่ส่งน้ำให้ทำเกษตร คาดว่าชาวนาจะหยุดปลูกแล้วจาการลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image