อธิบดีกรมราชทัณฑ์เยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขังและญาติที่เรือนจำพิษณุโลก หลังมีนักโทษเสียชีวิต 4 ราย

วันที่ 6 มกราคม 2563 ที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณด้านหน้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก เช้านี้มีบรรดาญาติผู้ต้องขังจำนวนมาก เดินทางมาเยี่ยมตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมกับ ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับบัตรคิวเข้าเยี่ยม ซึ่งจะมีเวลาให้เยี่ยมแค่เพียงคนละ 5 นาที เท่านั้น ส่วนใหญ่ญาติที่มาเยี่ยมผู้ต้องขังรู้สึกกังวลใจเนื่องจากทราบข่าว ว่าที่เรือนจำแห่งนี้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตไปแล้วถึง 4 ราย

โดยหนึ่งในญาติที่มาเยี่ยมผู้ต้องขัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เพิ่งมาเยี่ยมลูกชายซึ่งต้องโทษอยู่ในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก เป็นเวลา 4 ปีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าลูกชายมีสีหน้าไม่ค่อยสู้ดี ร่างกายผอมลงผิดปกติ ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าจะป่วยเป็นโรคเดียวกันกับที่มีผู้เสียชีวิต จึงอยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน หรือที่อยู่อาศัยหลับนอน เพราะนักโทษก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

ขณะที่ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยพันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ประชุมหารือและวางแผน ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน และในช่วงเช้านี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เข้าไปตรวจสอบภายในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกอีกครั้ง

พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ ขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่จากหลักฐานของกรมควบคุมโรคและสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต มีภาวะโปรแตสเซี่ยมในเลือดต่ำ ซึ่งน่าจะเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของไทรอยด์ ทำให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และเกิดภาวะโปรแตสเซียมต่ำ มือเท้าอ่อนแรง บางรายมีอาการมากจะเสียชีวิต ขณะนี้ตั้งแต่ 29 ธ.ค.62 ถึง 4 ม.ค.63 มีผู้ต้องขังเสียชีวิต 4 คน กรมราชทัณฑ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมกำลังแพทย์ พยาบาลเข้ามาช่วยเหลือคัดกรองเบื้องต้นด้วยการจับชีพจร ถ้าเกินกว่า 100 ครั้งต่อนาที จะแยกออกมาได้จำนวน 610 คน และทำการตรวจละเอียด และรับตัวเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลทันทีประมาณ 50 คน ได้แพ่ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร 25 คน ที่เหลือรักษาอยู่ รพ.วังทอง และรพ.พุทธชินราช รวมแล้วนอนรักษาตัวที่รพ.ประมาณ 50 คน และในวันพรุ่งนี้ 7 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข จะมีการเจาะเลือด 100 % ในผู้ต้องขังทั้งหมด 3,000 กว่าราย เก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ คัดกรองโรคในห้องแล็ป ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จะได้ผลออกมา

Advertisement

ตนได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ดูแลบำรุงขวัญผู้ต้องขัง และเมื่อเช้าได้พูดกับญาติมิตรที่มาเยี่ยมให้เข้าใจสถานการณ์ เมื่อคืนแม่ทัพภาคที่ 3 ผวจ.พิษณุโลก ก็มาตรวจเยี่ยม และเปิดโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรให้เลยในการดูแลผู้ต้องขัง ได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือผู้ต้องขัง จะเห็นได้ว่า เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก มีผู้ต้องขัง 3,000 กว่าราย แต่ไม่มีแพทย์เลย มีพยาบาล 2 คน เจ้าหน้าที่ 120 คน ถือว่าเป็นภาระค่อนข้างหนัก วันนี้ ได้ทำความเข้าใจกับผู้ต้องขัง แนะนำให้เขา สังเกตอาการตนเอง พูดให้เกิดความเบาใจว่าจะมีการตรวจ การคัดกรอง และบำบัดรักษาอย่างดี ทั้งฝ่ายญาติ และผู้ต้องขังก็ดูเหมือนมีความเข้าใจอย่างดี ในพื้นที่นี้ มีเรือนจำ 3 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก มีปัญหาของการเจ็บป่วย ส่วนเรือนจำกลาง และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก ไม่มีปัญหาในลักษณะนี้ แต่ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากเรือนจำกลาง ทัณฑสถานหญิง มาช่วยดูแล หลังจากนี้ไปเชื่อว่าจะควบคุมได้ ผู้เจ็บป่วยที่อาการไม่ดีก็จะส่งรักษาที่โรงพยาบาลทันที

ส่วนเรื่องการตรวจอาหารเพื่อหาสาเหตุของโรคนั้น ต้องรอผลตรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า อาหารที่ส่งไปให้ตรวจในแล็ปนั้น เป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ปนเปื้อนจริงหรือไม่อย่างไร กรมราชทัณฑ์ก็ได้ให้ผู้ตรวจราชการของกรม มาเก็บข้อมูลไปตรวจสอบด้วย การดำเนินการถ้าหากผลออกมาแล้วมาจากอาหารปนเปื้อน อาหารไม่ดี จะพิจารณาข้อบกพร่องทางวินัย ส่วนเรื่องทางปกครอง ขอเวลาประมวลอาจจะใช้มาตรการทางการปกครองในการย้ายสับเปลี่ยน

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่าทำไมจึงไม่มีการส่งผู้ป่วยไปรักษาให้ทันท่วงที อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตอบว่า เป็นเรื่องที่ตนตำหนิไป เพราะทั้ง 4 รายที่เสียชีวิต เสียชีวิตในเรือนนอน ในเรือนจำทั้งหมด โดยหลักแล้ว ถ้ามีการตื่นตัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ ผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ที่ไว้วางใจ น่าจะสังเกตอาการได้ เพราะในช่วงกลางคืนกำลังเราค่อนข้างน้อย ผู้ต้องขังก็แยกนอนห้องละ 50-100 คน จากการที่ตนตรวจสอบภาพวงจรปิด ก็ไม่พบว่า เป็นการทำร้าย หรือ ฆาตรกรรม ภาพจากกล้องวงจรปิด ผู้เสียชีวิต ก็ไม่ได้มีอาการทุรนทุราย หรือ ร้องเอะอะโวยวาย พลิกตัวไปมา ถีบผ้าห่มออก มาพบอีกทีก็เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตนและญาติคงสบายใจกว่านี้ ถ้าผู้ต้องขังไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นั่นความหมายว่าเราพยายามตรวจสอบและรักษา เรื่องนี้ขอรับไปแก้ไข

Advertisement

ส่วนมาตรการการเพิ่มแพทย์ และพยาบาลในเรือนจำ เป็นเรื่องที่ยึดโยงกับอัตรากำลัง เราได้รับเพิ่มตามลำดับ แต่จำนวนประชากรผู้ต้องขังค่อนข้างมาก ถ้าวัดตามความเหมาะสมที่เจ้าหน้าที่ดูแลได้ ผู้ต้องขังจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 คน แต่ขณะนี้ จำนวนผู้ต้องขังพุ่งไป 370,000 คน อัตราเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุมัติแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในปีนี้ สำนักงบก็อนุมัติให้สร้างโรงพยาบาลราชทัณฑ์แห่งที่สอง ก็จะได้แพทย์และบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ

สำหรับการจัดอาหารเข้าเรือนจำนั้น กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีจัดซื้อด้วยวิธีคัดเลือก ตามพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ประกอบกับกฎกระทรวงการคลัง มีสาระสำคัญ ถ้าหน่วยราชการจะซื้อข้าวสารอาหารดิบมาปรุงเลี้ยง ต้องใช้วิธีการคัดเลือก จะแจ้งไปยังหน่วยงานที่ได้รับสิทธิ ซึ่งล้วนเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของทางราชการทั้งสิ้น เรือนจำพิษณุโลก เป็นผู้ประกอบการในองค์การคลังสินค้า และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และมีสหกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ หลายรัฐวิสาหกิจตั้งตัวแทนแล้วมาแข่งขันกัน

ในประเด็นผู้ส่งอาหาร วัตถุดิบ เราเคยมีหนังสือแจ้งไปยังรัฐวิสาหกิจกรณีส่งวัตถุดิบไม่ตรงสเปก อาทิ ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก กรมราชทัณฑ์ก็ทำหนังสือแจ้งไปหนังหน่วยงานที่ส่งสินค้าเข้ามา ว่าปริมาณสินค้า ไม่ตรงตามสเปก ถ้าไม่แก้ไขก็จะทำการเปลี่ยนผู้ส่ง และกรมราชทัณฑ์ก็จะตรวจสอบผู้ตรวจรับด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจราชการกรม ได้เข้ามาตรวจสอบในเรือนจำพิษณุโลกแล้ว ขอให้ส่งผลสรุปออกมาก่อน

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์เสียชีวิตของผู้ต้องขังเสียชีวิต 4 ราย ที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก และมีอาการป่วยอีกจำนวนมาก เบื้องต้นแพทย์ระบุภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงสาเหตุน่าจะมาจากอาหาร โดยเบื้องต้นได้ประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสังกัดกระทรวงมหาดไทยกระทรวงยุติธรรมกองทัพบก และกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมและป้องกันสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในเรือนจำกลางเรือนจำจังหวัดและทัณฑสถานหญิงพิษณุโลกเพื่อควบคุมมิให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มาตรการต่อไปจะต้องบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยให้หายเป็นปกติ โดยกำหนดมาตรการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ตรวจเลือดคัดกรอง จ่ายยา มาตรการด้านอาหาร งดเนื้อสัตว์ เสริมโปรตีนและอื่นๆ มาตรการด้านจิตวิทยาสร้างความมั่นใจแก่ผู้ต้องขัง ประชาชน และด้านความมั่นคง ให้เกิดเชื่อมั่นในความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ยุติได้ภายใน 7 วัน

ด้านนายธรรมนูญ ทองสุข ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดส่ง เข้าตรวจสอบสถานที่ ร้านที่เป็นตัวแทนองค์การคลังสินค้าส่งวัตถุดิบประกอบอาหารให้เรือนจำจังหวัดพิษณุโลกแล้ว และเก็บวัตถุดิบประกอบอาหารของเรือนจำพิษณุโลก ซึ่งเบื้องต้นนั้นพบว่ามีเอกสารการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ (ร.๔) ถูกต้อง ขณะที่การเก็บตัวอย่างเนื้อ จากสถานที่ เก็บวัตถุดิบประกอบอาหารของเรือนจำพิษณุโลก เพื่อตรวจหาสารตกค้าง และเชื้อโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image