‘แม่โจ้’ ประกาศความสำเร็จวิจัยปลูก-เก็บเกี่ยว ‘กัญชาทางการแพทย์’ ระดับอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ รศ.วีรพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงความสำเร็จโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ว่า โครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนี้ ม.แม่โจ้ ทำการวิจัยการปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนอัจฉริยะ ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก IFOAM และ USDA หน่วยงานที่รับรองการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ภายในโรงเรือน แบบ Smart Farming จึงทำโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์เสนอต่อกรมการแพทย์ สธ.จนเกิดการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“โดย ม.แม่โจ้ ได้มอบหมายให้ ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 และต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ม.แม่โจ้ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชาในพื้นที่จำเพาะในโรงเรือนอัจฉริยะ เนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร สามารถปลูกกัญชารุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสารซีบีดี (CBD) และสารทีเอชซี (THC) ระดับสมดุล และในวันที่ 21 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ไปเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือนอัจฉริยะ ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งโรงเรือนอัจฉริยะนี้อยู่ในโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ เป็นหน่วยงานวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย มี ศ.อานัฐ ตันโช เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

ศ.อานัฐ กล่าว่า ม.แม่โจ้ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในโครงการปลูกกัญชา ทางการแพทย์ในระบบเกษตรอินทรีย์ Smart Organic Farming ภายในโรงเรือนอัจฉริยะ Smart Farming แบบ IOT กัญชาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมดึงดูดแมลงศัตรูพืชได้ดี มีผลต่อการเกิดโรคพืชได้ระยะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากและบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กัญชามีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อการนำไปใช้ทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องปลูกในระบบอินทรีย์ โดยเริ่มจากการเพาะเมล็ดซึ่งใช้นวัตกรรมวัสดุ ปลูก และเทคนิคการเพาะเมล็ดที่ทำให้เมล็ดงอกภายในระยะเวลาสั้น และเริ่มนำต้นกล้าปลูกในวัสดุปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในโรงเรือนขนาดเนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร ปลูกระยะชิดได้ จำนวน 12,000 ต้น ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดและใช้นวัตกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จาก IFOAM และ USDA ทั้งวัสดุปลูกอินทรีย์การให้น้ำและสารอาหารอินทรีย์ (N,P,K) การควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น และแสง รวมทั้งการกำจัดศัตรูพืช โดยแมลงกำจัดศัตรูพืช เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และมวน พิฆาต รวมทั้งการใช้สารจุลินทรีย์กำจัดโรคพืช ซึ่งเป็นงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ถึง 13 ชนิด รวมทั้งเทคนิคการจัดการความเครียดของพืช เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีความไวต่อความเครียด เช่น ขาดน้ำ ขาดอาหารที่จำเป็นและช่วงความยาวแสง

Advertisement

“จากประมาณการเบื้องต้นกัญชา จำนวน 12,000 ต้น จะให้ผลผลิตจากต้นเพศเมียเพียง 6,000 ต้น ที่เหลือจะเป็นเพศผู้ ซึ่งไม่ให้ผลผลิตดอกกัญชาแต่จากเทคนิคการจัดการความเครียด ทำให้ได้ต้นเพศเมียมากถึงเกือบ 7,500 ต้น และเนื่องจากเป็นการปลูกในช่วงฤดูหนาว จึงต้องใช้เทคนิคในการควบคุมแสงและอาหารไม่ให้กัญชาออกดอกเร็ว ในขณะที่ต้นไม่สมบูรณ์เต็มที่ ขณะนี้ต้นกัญชามีความสมบูรณเต็มที่ออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น พร้อมให้เก็บเกี่ยวซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัมหรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งนายอนุทิน จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์ม ม.แม่โจ้ ในวันที่ 15 มกราคมนี้ นับเป็นผลงานวิจัยที่ประสบความสาเร็จในระดับชาติ จากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย” ศ.อานัฐ กล่าว

นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า ผลผลิตที่ได้มาคาดว่าจะสามารถทำเป็นดอกแห้งได้ประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม โดย 400 กิโลกรัม กรมการแพทย์จะร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น นำไปผลิตตำรับยาสำหรับผู้ป่วยโรงมะเร็ง ทั้งชนิดหยอดใต้ลิ้น และชนิดเหน็บทวาร และจะนำไปใช้ที่คลินิคกัญชาทางการเแพทย์ รพ.มะเร็งอุดรธานี เรียกว่าเป็นการแพทย์ไทยร่วมสมัย เพื่อตอบโจทย์ว่าสารสกัดกัญชาสามารถใช้ร่วมรักษาโรงมะเร็งได้แบบใดบ้าง จากโจทย์ที่ตั้งไว้คือ มะเร็งรักษายาก มะเร็งแพร่กระจาย และมะเร็งที่ดื้อต่อเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด คาดว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าใช้ได้จริงหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบกับสัตว์ เพื่อดูว่าฤทธิ์เฉียบพลัน ผลข้างเคียงเฉีบบพลัน ผลข้างเคียงเรื้อรัง มีหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน

Advertisement

“ส่วนที่เหลืออีก 600 กิโลกรัม อภ.จะนำไปผลิตตำรับยา ซึ่งตอนนี้ยังมีความขาดแคลนสารซีบีดี และทีเอชซี จากกัญชา ตำรับยาทั้งหมดนี้จะกระจายไปตามโรงพยาบาลในสังกัด สธ. นอกจากนี้ เตรียมนำพันธุ์กัญชา “อิสระ 01″ เพื่อขอการรับรองพันธ์จากกรมวิชาการเกษตร ให้ถูกต้องตามกระบวนการทางกฏหมาย เพื่อให้ประเทศไทยได้มีพันธ์กัญชาที่ถูกต้อง” นพ.อิสระ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image