“ธรรมนัส”ตรวจภัยแล้งขอนแก่น เตรียมแผนช่วยเหลือประชาชน หนุนสร้างพนังกั้นลำน้ำชี

เมื่อเวลา 16.00น. วันที่ 6 มกราคม 2563 ที่หอประชุมอำเภอชนบทจ.ขอนแก่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะธรรมงานผู้เกี่ยวข้อง เดินทางติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อำเภอชนบท โดยมีนายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ

นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอชนบท กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น อำเภอชนบท แบ่งการปกครองออกเป็น 8 ตำบล 80 หมู่บ้าน มีประชาชน 29,214 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีแหล่งน้ำสำคัญได้แก่แม่น้ำชีที่ไหลผ่าน 4 ตำบล ปีการผลิตที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง 6,451 ราย พื้นที่เกษตรเสียหาย 75,089 ไร่ ทางราชการได้ช่วยเหลือชดเชยค่าเสียหายครบทุกรายแล้ว

“ล่าสุด ปริมาณน้ำในลำน้ำชี ห้วยหนองเอี่ยน หนองกองแก้ว รวมทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามหมู่บ้านมีน้อยกว่าที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางอำเภอได้แจ้งเตือนประชาชนได้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมให้ส่วนราชการ หน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เตรียมแผนการปฏิบัติในการช่วยเหลือประชาชนหากสถานการณ์ภัยแล้งเข้าสู่สภาวะวิกฤติ” นายพยุงกล่าว


ต่อมาร.อ.ธรรมนัส เดินทางติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่ ต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท โดยเยี่ยมชมรูปแบบการใช้นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำร่วมกับจิตอาสา กรมชลประทาน น้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบต อดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 มาใช้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับอุปโภค บริโภค และน้ำ เพื่อการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย โดยจัดทำฝายแกนซอยซีเมนต์ชะลอน้ำในแม่น้ำชีที่แต่เดิมน้ำเหลือเพียงติดใต้ท้องน้ำจนไม่สามารถสูบน้ำดิบมาใช้ประโยชน์ได้ ภายหลังจากการจัดทำแล้วเสร็จ ทำให้น้ำยกระดับเพิ่มสูงขึ้น จนสามารถมีน้ำสำหรับผลิตประปาให้กับหมู่บ้าน และประชาชนในเขตเศษฐกิจของอำเภอชนบทได้

Advertisement

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีแม่น้ำ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใหญ่ที่มีแม่น้ำไหลผ่านหลายอำเภอ มีแม่น้ำชี แต่ปัญหาเวลานี้แม่น้ำชีแห้งเกือบทุกอำเภอที่ไหลผ่าน พอมาตรวจดูแหล่งน้ำหลายๆแหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกษตร แม่น้ำขนาดเล็กที่อยู่นอกเขตชลประทานน้ำแห้งหมด ดังนั้นความหวังเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ คือ ลำน้ำชี ฉะนั้นต้องมีการศึกษาและการจัดการ ทำอย่างไรเวลาหน้าฝนจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด นั่นคือ โครงการแก้มลิง และการชะลอการไหลของน้ำไว้ใช้เวลาหน้าแล้ง เช่น โครงการซอยซีเมนต์ ทำพนังชะลอน้ำทุก 5 กิโลเมตร ซึ่งลำน้ำชียาวไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างทางกว่า 1,000 กิโลเมตร จะสามารถชะลอน้ำได้เป็นช่วงช่วง ดังนั้นเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งการทำธนาคารน้ำใต้ดิน การขุดลอกห้วย หนอง คลองต่างๆต้องมีการแก้ไขอย่างบูรณาการร่วมกัน

“เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญถือเป็นวาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงกว่าจะถึงหน้าฝนหลังจากนี้ ผมจะเอาข้อมูลทั้งหมดไปศึกษา เมื่อศึกษาแล้วอันไหนจำเป็นเร่งด่วน เมื่อผมเป็นประธานกรรมาธิการลุ่มน้ำจะบรรจุเข้าไปในมติ และเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาศึกษาหาแนวทางและแนวทางปฏิบัติต่อไป” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image