เกษตรกรกุมขมับ! แล้งหนักในรอบสิบปีมะนาวเสี่ยงยืนต้นตาย ชี้ปีนี้มาเร็ว-รุนแรง

เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เดือดร้อนหนักหลังขาดแคลนน้ำใช้รดต้นมะนาว เผยปีนี้แล้งมาเร็วและรุนแรงในรอบไม่น้อยกว่าสิบปี

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 7 มกราคมนี้ว่า ต้นมะนาว ที่เกษตรกรปลูกเอาไว้บนเนื้อที่ 5 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่อยู่ในสภาพเหี่ยวแห้ง ใบเหลือง เสี่ยงที่จะยืนต้นตาย หลังขาดแคลนน้ำมาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากฝนทิ้งช่วง แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ก็มีฝนน้อยกว่าปกติ แหล่งน้ำที่ขุดเอาไว้ก็มีน้อย ทำให้ไม่เพียงพอที่สูบขึ้นมาใช้รดต้นมะนาว ประมาณ 200 ต้น
นางสมคิด หิรัญกูล เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวบอกว่า ในช่วงนี้ปกติทุกปีจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย ซึ่งจะเก็บได้วันละ 20-50 กิโลกรัม แต่ในปีนี้ ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน มะนาวกลับไม่ออกดอก คาดว่าเป็นเพราะมีฝนตกน้อย จนมาถึงวันนี้ฝนก็ยังทิ้งช่วง มะนาวจึงไม่ออกผล ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนในฤดูกาลนี้ ซ้ำต้นมะนาวที่เพิ่งปลูกเอาไว้ประมาณ 2 ปีก็แคระแกร็น บางต้นเริ่มเหี่ยวเฉา แห้งตาย เช่นเดียวกับต้นมะนาวขนาดใหญ่ ที่เริ่มมีบางกิ่งที่แห้งตาย ทั้งนี้คาดว่า หากยังไม่มีฝนตกลงมาช่วยก็จะทำให้ต้นมะนาว ยืนต้นตายทั้งหมด ซึ่งตนเองก็คงทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากการเกษตรในพื้นที่นี้ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เพราะไม่มีระบบชลประทาน และห่างไกลจากแหล่งน้ำ ซึ่งก็คือคลองอาทิตย์ และ ทะเลสาบสงขลา จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้นั้นถือว่ามาเร็วและรุนแรงในรอบไม่น้อยกว่าสิบปี

เช่นเดียวกับนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ ที่ขณะนี้ต้นข้าวอยู่ในช่วงตั้งท้อง แต่ฝนกลับทิ้งช่วง ทำให้ไม่มีน้ำเข้านา เกษตรกรแต่ละรายนั้น ทำนาเอาไว้รายละ 15-20 ไร่ ส่วนใหญ่เริ่มถอดใจ เพราะคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมา หรือทางการไม่ได้ช่วยสูบน้ำเข้านา ภายในเดือนนี้ นาข้าวก็คงเสียหายทั้งหมด

นายเลื่อน แสงประดับ เกษตรกรนาข้าว ตำบลคลองรี กล่าวว่า ตนเองนั้นทำนาเอาไว้ 15 ไร่ หว่านข้าวช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงปกติ ที่เมื่อมีฝน เราก็จะหว่านข้าว เพราะเราพึ่งพาน้ำจากน้ำฝนธรรมชาติเท่านั้น แต่หลังจากหว่านข้าว ฝนก็ตกเพียงเล็กน้อย ทำให้น้ำไม่เพียงพอ แม้จะมีการสูบน้ำ จากสระน้ำที่ขุดเอาไว้เข้านา แต่ก็ไม่เพียงพอ ทำให้คาดว่า นาข้าวจะเสียหายทั้งหมด ทำให้ขาดทุนและในปีนี้ก็คงจะต้องซื้อข้าวสารกิน

Advertisement

นายวิชัย ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดสงขลากล่าวว่า ได้ทำการสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งในทั้ง 16 อำเภอ เพื่อประสานข้อมูลปริมาณน้ำกับสำนักงานชลประทานจังหวัดสงขลา ในการวางแผนปลูกพืชหน้าแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลระบบชลประทาน ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 มกราคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image