‘เครือข่ายลุ่มน้ำชี’ ค้านเก็บภาษีน้ำ เสนอยกเลิกพ.ร.บ.น้ำ ซ้ำเติมเกษตรกร

ยกเลิกพ.ร.บ.น้ำ-เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 8 มกราคม ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ต.โพนเมือง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด นายจันทรา จันทาทอง อายุ 45 ปี คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจ.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายนิมิต หาระพันธุ์ อายุ 60 ปี คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร พร้อมด้วยคณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ดและ จ.ยโสธร กว่า 150 คน ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน พ.ร.บ.น้ำ จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธานเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าชลประทาน การจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทาน และการยกเว้นและการผ่อนชำระค่าชลประทาน พ.ศ. … ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญตามที่สื่อมวลชนเสนอไปแล้วนั้น หลังจากการแลกเปลี่ยนทางคณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี ต่างมีข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.น้ำ ที่จะมาเก็บภาษีน้ำกับเกษตรกร ซ้ำยังเพิ่มปัญหาให้กับเกษตรกรชาวรากหญ้าทั้งระยะสั้นระยะยาว

นายนิมิต กล่าวว่า พ.ร.บ.น้ำ นี้จะเป็นปัญหากับเกษตรกรชาวบ้านลุ่มน้ำแน่นอน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ชาวบ้านไม่เคยได้มีส่วนร่วมแล้วจะมาเก็บภาษีน้ำอย่างไร วันนี้จึงลุกขึ้นมาเสนอให้รัฐบาลรับรู้ว่าชาวบ้านไม่ต้องการ พรบ.น้ำ


จากนั้นนายจันทรา ได้อ่านคำประกาศคัดค้านการเก็บภาษีน้ำ เสนอยกเลิก พ.ร.บ.น้ำที่ซ้ำเติมเกษตรกรชาวรากหญ้า ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี มองว่าหลังการคลอด พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกษตรกรลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำอีสานต่างกังวลว่าจะมีการเก็บภาษีน้ำหรือเปล่า เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรลุ่มน้ำทั้งภาคอีสานคัดค้านมาโดยตลอด  ถ้าพ.ร.บ.น้ำคลอดออกมาแล้วเกิดการใช้จริงจะส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวต่อวิถีชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำภาคอีสานอย่างไรบ้าง เนื่องจากปีที่ผ่านมาน้ำท่วมข้าวนาปีเสียหายหมด ทำให้เกษตรขาดรายได้หลัก ทำให้ปีนี้เกษตรกรจะต้องทำนาปรังเพื่อทดแทนนาปีและชาวนาก็เสียค่าน้ำอยู่แล้วสามลักษณะคือ 1.เสียในรูปแบบเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เก็บเฉลี่ยกันรายชั่วโมง 2.เสียค่าน้ำในลักษณะค่าไฟฟ้าที่บางครอบครัวเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาทำนาปรังหรือรดน้ำสวนผัก 3.เสียในลักษณะค่าน้ำมันที่บางครอบครัวจะต้องนำเครื่องสูบน้ำดึงน้ำขึ้นมา ดังนั้น ทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบันเกษตรก็เสียค่าน้ำอยู่แล้ว

Advertisement

นายจันทรา กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรยิ่งเห็นชัดแล้วว่า พ.ร.บ.น้ำ ฉบับบนี้เป็นฉบับรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำอยู่ที่รัฐ เพราะสุดท้ายต้องขึ้นกับหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่ (กนช.) ประกาศกำหนด โดยเฉพาะมาตรา 49 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทดังกล่าว โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บลดหย่อนหรือยกเว้นค่าใช้น้ำดังกล่าว ระบบภาษีน้ำ การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ขัดต่อหลักสากลว่าด้วยการเข้าถึงน้ำอันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์ แม้ว่ากิจการ ประเภท และรูปแบบการใช้น้ำจะมีหลากหลาย แต่สิทธิของชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืนควรได้รับการรับรอง และมีอำนาจในการบริหารจัดการเองได้ การใช้น้ำของชุมชน ไม่ควรต้องแลกด้วยเงินที่ต้องจ่ายให้รัฐ หรืออย่างน้อยควรมีการกำหนดปริมาณอันจำเป็นที่ชุมชนต้องใช้ก่อน เว้นแต่ปริมาณที่เกินกว่านั้น และชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด

นายจันทรา กล่าวว่า ปัญหาทรัพยากรน้ำ เป็นเรื่องความล้มเหลวของรัฐและหน่วยงานของรัฐเองที่ไปมุ่งเน้นแต่เรื่องการจัดหาน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือน้ำตันทุน (water supply) จนละเลยเรื่องการพัฒนาระบบชลประทานย่อยในระดับไร่นา ระดับชุมชน หรือลุ่มน้ำขนาดเล็กที่ให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการในฐานะเจ้าของทรัพยากร รวมถึงการละเลยที่จะมุ่งเน้นเรื่องการใช้ย้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง เช่น การนำน้ำทะเลมาใช้ด้วยกระบวนการทำให้กลายเป็นน้ำจืด การรีไซเคิลน้ำจากเมือง อุตสาหกรรมเพื่อนำมาใช้ในระบบน้ำประปา หรือเป็นน้ำดิบใหม่ การลดภาษีเครื่องจักรอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้กับการประบปรุงคุณภาพน้ำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

Advertisement

นายจันทรา กล่าวว่า ด้วยปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแห้งแล้งเลย แต่ความสามารถในการจัดการน้ำของเราต่ำมาก ตั้งโจทย์ผิด ควรทำจากเล็กไปหาใหญ่ ไม่ใช่พัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วมาสร้างความขัดแย้งและผลกระทบกับคนเล็กคนน้อย จึงเสนอว่า อีก 2 ทศวรรษ จากนี้ความเป็นเรื่องการจัดการน้ำในส่วนผู้ใช้น้ำ (ไม่ใช่ไปสร้างแหล่งน้ำเพิ่ม) เช่น ระบบการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรมทำอย่างไรจึงจะประหยัด ใช้น้ำน้อย มีประสิทธิภาพ และได้ผลผลิตดี ราคาดี ไม่ใช่ไปหาน้ำมามากๆ แล้วเก็บค่าน้ำอย่างที่กำลังจะทำ
ในชุมชนเมือง อุตสาหกรรม ก็ควรมุ่งเน้นไปที่การจัดทำแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเอง ในพื้นที่ของนิคมฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรม และการรำระบบเทคโนโลยีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในสถานปรกอบการมาใช้อย่างจริงจัง รวมถึงสถานบริการ เมือง ซึ่งสามารถนำน้ำเสียมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื้อนำกลับมาใช้ใหม่ อันนี้คือสิ่งที่ควรต้องทำและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในในช่วง 20 ปีนี้

“ดังนั้น ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จึง มีข้อเสนอ 1.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.น้ำ ที่จะซ้ำเติมเกษตรกรรากหญ้า ไม่มี พ.ร.บ.น้ำ เกษตรกรก็เสียค่าน้ำอยู่แล้ว พ.ร.บ.น้ำควรไปกำกับดูแลการใช้น้ำประเภทที่สอง และที่สาม เพื่อไม่ให้เกิดการแย้งชิงทรัพยากรน้ำกับชุมชน 2.ให้ทบทวนใหม่ และเสนอแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ แม้ว่าแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์อาจจะมองว่า หากมีการจ่ายเพื่อใช้ทรัพยากร อาจจะทำให้ช่วยให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ควรเอาการจ่ายด้วยเงิน อันเป็นต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นภายใต้ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำตลอดมา เป็นการผลักภาระให้เกษตรกรและชุมชนโดยหลีกเลี่ยงมิได้” นายจันทรา กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image