ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดินลง มทร.ตรัง ตรวจสอบ ‘การก่อสร้างอาคารรุกป่า’ หลังคดีไม่คืบ

ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดินลง มทร.ตรัง ตรวจสอบโครงการ ‘ก่อสร้างอาคารรุกป่า’ หลังคดีไม่คืบ

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ร.ต.ต.พงศกร มีพันธุ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหาร มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกลุ่มอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งได้ก่อสร้างบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองกะลาแส – ป่าคลองไม้ตาย” หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เนื้อที่กว่า 21 ไร่ และกระทำความผิดในฐานะเจ้าหน้ารัฐจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ต้องรับผิดทางละเมิด

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวใกล้จะหมดอายุความแล้ว แต่ทาง มทร.ศรีวิชัย ตรัง ยังไม่ได้ดำเนินการใช้มาตรการทางปกครอง บังคับคดีให้ อดีตอธิการบดี มทร.ชดใช้ค่าเสียหายกลับคืนให้กับทางมหาวิทยาลัยเป็นเงินจำนวนกว่า 66 ล้านบาท และค่าเสียหายที่ทาง มทร.ต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจำนวน 12 งวด เป็นเงินกว่า 64 ล้านบาท โดยเฉพาะในกรณีการใช้มาตการบังคับทางปกครองกับอดีตอธิการบดีแม้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดจะสิ้นสุดมานานแล้ว แต่ทาง มทร.ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการสืบทรัพย์ หรือยื่นเรื่องขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์อดีตอธิการบดีแต่อย่างใด หวั่นว่า มทร.เข้าด้วยช่วยเหลือ เปิดโอกาสให้นายอดีตอธิการบดีมีเวลายักย้ายถ่ายเททรัพย์จนนำสืบไม่พบ หรือไม่มีให้ยึด เพื่อนำมาชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับแผ่นดิน

ร.ต.ต.พงศกร มีพันธุ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า มาเพื่อขอความร่วมมือให้มทร.ตรัง ดำเนินการสืบทรัพย์เอาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดข้อหาละเมิด จนสร้างความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน ทั้งนี้ เงินราชการทุกบาททุกสตางค์ไม่ควรจะสูญหายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ พื้นที่ก่อสร้างควรจะพัฒนาใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่างบประมาณสูญเปล่าโดยรัฐไม่ได้อะไรกลับมา

“โดยหลังจากนี้ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำหนังสือสอบถามไปยัง 1.สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการดำเนินกับเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเมิด 2.ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ อย่างไร และกรณีการตรวจสอบบัญชีต้องเร่งกระทำ เพราะขณะนี้ยังหาผู้รับผิดชอบการกระทำความผิดทางละเมิดไม่ได้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จะต้องเร่งรัดติดตามต่อไป ส่วนกรณีการจะเอาอาคารที่ก่อสร้างและทิ้งร้างดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปนั้น เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน

Advertisement

กรณีนี้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติคือ ครม.ซึ่งปัจจุบันมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.ป่าไม้ต่างๆ จึงต้องขึ้นอยู่กับอำนาจตัดสินใจของ ครม. ส่วนหน่วยตรวจสอบอย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ต้องยึดหลักกฎหมาย ร้องมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการสืบทรัพย์บังคับใช้มาตรการทางปกครอง เงินที่ใช้เป็นเงินภาษีงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ จะนำผลการลงพื้นที่รายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป หลังจากนี้อีกประมาณ 6 เดือน คาดว่าคงจะมีคำวินิจฉัยออกมา เพราะเรื่องนี้ผ่านมานานมากแล้ว ส่วนคดีฮั้วประมูลขณะนี้ทราบว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาแล้วว่าคดีมีมูลทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ขณะที่ปปช.ก็รับเรื่องไว้แล้ว” ร.ต.ต.พงศกร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image