มูลนิธิชีววิถีโพสต์ แฉปัญหาฝุ่นพิษจากนโยบายเกษตรประชารัฐ เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 3 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 20 มกราคม มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI โพสต์ภาพพร้อมข้อความ 7 ประเด็นสาเหตุ ปัญหาจากฝุ่นพิษ PM2.5 ระบุว่า 1.ปัญหาฝุ่นควันพิษและคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจเกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการปลูกอ้อยและพืชอุตสาหกรรมของรัฐบาลเอง

2.คุณภาพอากาศระดับเลวร้ายจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ในหลายจังหวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลูกพืชไร่สำคัญและจังหวัดใกล้เคียง เช่น กาญจนบุรี ลพบุรี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ราชบุรี กำแพงเพชร มีจำนวนชั่วโมงที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย (unhealthy) จนถึงอันตรายมากๆ (very unhealthy) ในรอบ 1 เดือนยิ่งกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก

3.จากแผนที่พื้นที่ปลูกอ้อยเปรียบเทียบกับพื้นที่คุณภาพอากาศอันตรายพบว่าอยู่ในพื้นที่เกือบซ้อนทับกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาในพื้นที่การปลูกอ้อย จากข้อมูลการสำรวจพบว่าพื้นที่ปลูกอ้อย 40-60% ล้วนมีการเผาเพื่อความสะดวกและลดค่าแรงงานในการตัดอ้อย ในขณะที่การใช้รถตัดอ้อยสดยังมีต้นทุนสูงกว่าสำหรับเกษตรกรรายย่อย

4.จำนวนของฝุ่นควันพิษที่เพิ่มขึ้นนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 8,456,000 ไร่ เป็น 11,469,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 3,013,000 ล้านไร่ ระหว่างปี 2557-2562 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาล คสช. ที่มาพร้อมกับนโบาย “ประชารัฐ”

Advertisement

5.นโยบายประชารัฐของรัฐบาลคสช. คือการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ที่ส่วนใหญ่ส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยและข้าวโพดอาหารสัตว์นั้น จะได้รับการสนับสนุนในรูปปลอดดอกเบี้ยเงินกู้ ( คิดดอกเบี้ยเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์) ไปจนถึงการสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่เกษตรกรไร่ละ 2,000-3,000 บาท/ไร่ งบสนับสนุนให้เปล่าในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นไร่อ้อย

6.คณะกรรมการนโยบายประชารัฐการเกษตรนั้น มีประธานบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของไทยนั่งเป็นประธานร่วมกับนายทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีข้าราชการนั่งคอยรับฟังคำสั่ง

7.การแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเคารพสิทธิมนุษยชน ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เพราะสิทธิของประชาชนและเด็กๆที่จะได้รับอาหาร น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของ “อภิสิทธิชน” และการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลต่างหาก ที่ทำให้ปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งฝุ่นควันพิษ และปัญหาการใช้สารเคมีการเกษตรร้ายแรงของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข

Advertisement

มีเกษตรกรรายย่อยในระบบการผลิตนี้สักกี่คนที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างเติบโตขึ้นๆ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยคงต้องสร้างเกษตรกรรมแบบใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้รับภาระจากปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมดังที่เป็นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image