‘ดีเอสไอ’ยัน หลักฐานชัดเจน! อยู่มาร้อยปี-โฉนดทับ’ราไวย์’

กรณีเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่บริเวณริมชายหาดราไวย์ รอยต่อระหว่างที่ดินของเอกชนกับชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เกิดการปะทะกันของกลุ่มชาวไทยใหม่ราไวย์กับกลุ่มชายฉกรรจ์ ที่ระบุว่าเป็นพนักงานของบริษัทเอกชนเจ้าของที่ดินคือ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ที่อ้างมีเอกสารสิทธิยืนยัน ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและมีการแจ้งความกันในเวลาต่อมา กระทั่งนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นัดประชุมในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจได้และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุป และนายจำเริญยังแจ้งให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อให้ชาวไทยใหม่ (ราไวย์ สามารถเดินทางไปยังสถานที่ประกอบพิธีกรรม และเข้าไปดูแลเรือประมงที่จอดอยู่บริเวณชายหาดด้านหน้าได้นั้น

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 มกราคม ที่ห้องประชุมสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการนำเสนอข้อมูลการตรวจสอบหลักฐานเพื่อยืนยันการตั้งชุมชนของชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ราไวย์ สืบเนื่องจากเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องการร้องเรียนของชาวไทยใหม่ราไวย์ เพื่อขอให้ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินจาก ส.ค.1 ทับที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ และได้มีการนำหลักฐานดังกล่าวมาฟ้องขับไล่ชาวบ้าน มีอยู่ 3-4 คดี โดยบางคดีได้พิพากษาในชั้นศาลฎีกาแล้ว ชาวบ้านแพ้ และบางคดีอยู่ในศาลอุทธรณ์ รวมทั้งบางคดีเพิ่งเริ่มต้น โดยที่ดินที่ตั้งชุมชนเป็นแปลงที่ดินติดกับที่ดินที่ชาวไทยใหม่มีข้อพิพาทเรื่องทางสาธารณะที่ใช้สำหรับไปประกอบพิธีกรรม กับเจ้าของที่ดินที่มีการยืนยันกรรมสิทธิ์ จนเป็นที่มาของการเกิดเหตุปะทะกัน

p0105300159p2
แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศชุมชนชาวไทยใหม่หรือชาวเลบ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งดีเอสไอใช้ตรวจสอบบริเวณที่ดินพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวไทยใหม่ พบว่าชาวไทยใหม่มาตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วนับร้อยปี และเป็นไปได้ว่ามีการออกโฉนดทับทางสาธารณะที่ชาวไทยใหม่ใช้ประโยชน์อยู่เดิม เมื่อวันที่ 29 มกราคม

จากการที่ได้ลงพื้นที่และให้มีการบอกเล่าที่มาของการตั้งชุมชน พิธีกรรมต่างๆ พบว่าชาวไทยใหม่ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดังกล่าวเป็นเวลานับ 100 ปี อันเป็นผลมาจากการตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงกระดูกที่มีการขุดพบภายในชุมชน ได้นำไปตรวจสอบดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับคนในชุมชนพบมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน รวมไปถึงรายชื่อของนักเรียนที่มีการทำบันทึกไว้ที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไปประมาณ 1 กิโลเมตร และภาพของบุคคลในชุมชนที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาที่นี่เมื่อปี 2502 ตลอดจนการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2493 เห็นเส้นทางเดินคล้ายจะเป็นทางสาธารณะก่อนจะมีการออกเอกสารสิทธิ ส.ค.1 ในปี 2498? พ.ต.ท.ประวุธกล่าว และว่า ในส่วนของที่ดินแปลงที่เป็นข้อพิพาทเรื่องทางเดินสาธารณะไปยังที่ประกอบพิธีกรรมนั้น แม้จะเป็นคนละแปลงกัน แต่มีรอบเขตติดต่อกัน ซึ่งที่เป็นปัญหาคือ การที่ทางเจ้าของที่ดินจะปิดเส้นทางเข้าออก และเป็นไปได้ว่าการออกโฉนดได้ครอบทางสาธารณะที่มีการใช้ประโยชน์อยู่เดิม เห็นได้จากการอ่านแปลภาพถ่ายพบทางสาธารณะปรากฏอยู่

Advertisement

พ.ต.ท.ประวุธกล่าวต่อว่า ในส่วนของข้อมูลหลักฐานต่างๆ ทั้งหมด ทางดีเอสไอจะนำไปเสนอต่อทางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการพิจารณาหาข้อยุติข้อพิพาทระหว่างชาวไทยใหม่กับเจ้าของที่ดิน ที่จะมีการประชุมในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ และในส่วนของดีเอสไอ โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีแหล่งข่าวตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ประชาสังคมภูเก็ต กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าดีเอสไอเคยมีคำสั่งเรื่องขอให้กรมที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาเป็นปีแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ปัจจุบันกรรมสิทธิ์อยู่ในความครอบครองของตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งทั้งหมด โดยย้อนไปในปี 2495 มีชาว จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งบ้านเรือนระหว่างชุมชนกับร้านค้า ต่อมาในปี 2497 จึงย้ายมาตั้งร้านค้าใกล้ชุมชน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนัน และในช่วงที่ทางราชการให้แจ้งการเข้าครอบครองที่ดิน ได้ไปขอออก ส.ค.1 จำนวน 4 ไร่ และในปี 2505 ลูกสาวกำนันได้นำที่ดินไปออกเป็น น.ส.3 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ จึงนับเป็นปฐมเหตุของการเกิดเผชิญหน้าระหว่างผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินหาดราไวย์กับชาวไทยใหม่ เจ้าของพื้นที่เดิม

“ในขณะนี้ที่ดินบางแปลงถูกขายไปแล้วหลายทอด หากยืนบนหลักการว่าชาวไทยใหม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางเจ้าหน้าที่รัฐควรคืนความเป็นธรรมให้กับชาวไทยใหม่ เพราะหลักฐานที่ดีเอสไอได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว โดยหลักนิติวิทยาศาสตร์ มีการขุดกระดูกบรรพบุรุษของชาวไทยใหม่มาพิสูจน์ถึงความเป็นเจ้าของที่ดิน เห็นว่าที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินดั้งเดิมของชาวไทยใหม่ซึ่งอยู่มา ก่อนมีการออกเอกสารสิทธิ กรมที่ดินจึงควรเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณหาดราไวย์ซึ่งเป็นพื้นที่ชายหาดสุดท้ายของภูเก็ตที่ยังเป็นชุมชนอยู่อาศัย นอกเหนือจากนั้นก็มีกลุ่มทุนกว้านซื้อไปหมดแล้ว” แหล่งข่าวตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง กล่าว

Advertisement

นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่บ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้อนุกรรมการสิทธิชุมชนฯจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ กสม.ต้องไปทำหน้าที่สยบความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังความรุนแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุมสถานการณ์ จะไปพูดคุยกับชาวบ้าน ในกรณีนี้ตนยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยเฉพาะชาวเลในแถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 มีผลงานวิจัยระบุว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หาดราไวย์ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันนี้ชุมชนราไวย์มีราวประมาณ 250 ครัวเรือน นอกจากจะมีการทำประมง พื้นที่นี้ยังใช้ทำพิธีกรรมหรือเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จากมติ ครม.ที่ให้ตั้งกรรมการเพื่อเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต สร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน

นางเตือนใจกล่าวอีกว่า กสม.จะตรวจสอบด้วยว่าการได้โฉนดที่ดินในพื้นที่ของบริษัทเอกชนเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมทรัพยากรชายฝั่งทำไมจึงมีการห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการทำประมงในพื้นที่นั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ถูกกดดันอย่างมาก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนหลายคน ทั้งที่ชาวเลค่อนข้างเป็นคนรักสงบและไม่ถือสิทธิครอบครอง กสม.ก็จะตรวจสอบด้วยว่าหากมีการซื้อที่ดินในบริเวณนั้นได้มีมาตรการเยียวยาชาวบ้านและประนีประนอมกันหรือไม่ ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่หาดราไวย์สามารถเข้าไปฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ หน้าที่ กสม.จึงต้องเข้าไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดการคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image