ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุดที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน สหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง เผยทำแนวกันไฟป่า 20 กม. เล็งสร้างฝาย 20 แห่ง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ (CMAQHI) รายงานคุณภาพอากาศ โดยวัดค่าหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า ค่า PM 2.5 สูงสุดที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน วัดได้ 270 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนเชียงใหม่ ที่ อบต.บงตัน อ.ดอยเต่า วัดได้ 239 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เทศบาลตำบล (ทต.) บ้านตาล อ.ฮอด วัดได้ 222ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ส่วน อบต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง วัดได้ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

นางวาสนา ชัยเลิศ ที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้บริหารปางช้างแม่แตง เผยว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควันและ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อปางช้าง 43 แห่ง และช้างที่ให้บริการท่องเที่ยวกว่า 600 เชือก ค่อนข้างน้อย เนื่องจากส่วนภาคส่วน ได้ร่วมกันทำแนวไฟป่ายาวกว่า 20 กิโลเมตร พร้อมให้พนักงานปางช้างกว่า 100 คน ทำหน้าที่เฝ้าระวังและลาดตระเวนดับไฟป่าพื้นที่เสี่ยง โดยร่วมกับฝ่ายปกครองทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสา โดยใช้เครื่องเปาลม และอุปกรณ์ดับไฟป่าพื้นที่ ต.กึ๊ดช้าง และ ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จนถึงพฤษภาคมนี้ หรือเข้าสู่ฤดูฝน เนื่องจากเป็นป่าต้นน้ำลำธาร และมีลำห้วยสาขาไหลลงสู่ลำน้ำแม่แตง ที่ใช้นั่งช้างและล่องแพกว่า 10 สาย

“ล่าสุด ได้ร่วมกันทำฝายชะลอน้ำลำห้วยก่อนไหลลงลำน้ำแม่แตง 2 แห่ง เพื่อสร้างความชุ่มชื้น พร้อมปลูกกล้วย และไผ่ เพื่อเป็นอาหารของช้างเพิ่ม มีเป้าหมายสร้างฝายแม้ว รวม 20 แห่ง เนื่องจากระดับลำน้ำแม่แตงลดระดับลงมากจากเดิม 1-2 เมตร เหลือเพียง 40-50 เซนติเมตรเท่านั้น เนื่องจากลำห้วยบางสาขาแห้งขอดแล้ว พร้อมระดมทุนสนับสนุนการรณรงค์ป้องกันไฟป่าหมอกควัน อ.แม่แตง ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว” นางวาสนากล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอแม่แตง ได้ประชุมเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมกำชับทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวแบบยั่งยืนแล้ว ส่วนพื้นที่ปลูกพืชไร่ กว่า 2,000 ไร่ เพื่อเลี้ยงช้างกว่า 600 เชือกนั้น ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อย แต่มีอาหารเลี้ยงช้างเพียงพออยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image