ตามรอย ‘ฝนหลวง’ ลุ่มน้ำเพชรบุรี น้ำพระทัยจากฟากฟ้า

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมเปิดโครงการความร่วมมือบูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทรงงานครั้งสำคัญ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวงแด่นักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์ โดยทรงบัญชาการการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง เมื่อ 19 ตุลาคม 2515 และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง กรมจึงได้จัดให้เขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ 3 อาร์

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือ Project R3+ เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานคือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆและหน่วยงานของภาครัฐและประชาชนที่ใช้น้ำตลอดห่วงโซ่ เพื่อร่วมกันศึกษาการบริหารน้ำ อย่างเป็นระบบ โดยเป็นการต่อยอดโครงการ Project R3 ซึ่งเดิมมีเฉพาะกรมฝนหลวงฯ กรมชลประทานและ กรมป่าไม้ ที่เริ่มศึกษาเมื่อปี 2560 แต่ในระหว่างการศึกษาจะมีการปรับปรุงมาตลอด จึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องดึงภาครัฐ ประชาสังคม มาร่วมด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำและจะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนให้โครงการสัมฤทธิ์ผล

“โครงการ Project R3+ มีการประเมินมาเป็นระยะ ทำให้เห็นว่ามีหลายจุดที่จะต้องปรับปรุง จึงเตรียมขยายโครงการเป็น R3 บวก หรือ Project R3 พลัส ซึ่งจะเป็นการดึงเอาทุกภาคส่วนมาร่วม เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูกป่า การทำฝนหลวง และการบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำ และที่สำคัญคือ หน่วยราชการ ประชาชนที่จะได้ศึกษา เรียนรู้ไปพร้อมกับโครงการ”

Advertisement

สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการอาร์ 3 บวก ยังเป็นพื้นที่เดิมคือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดคือ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และบางส่วนของประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างแผนแม่บทในการขับเคลื่อนโครงการ กรมยกร่างเสร็จประมาณ 70% ที่เหลือจะส่งขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนทั้ง 4 จังหวัด เพื่อนำมาปรับในร่าง คาดว่าการจัดเวทีรับฟังจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เพื่อโครงการจะได้เริ่มในปีงบประมาณ 63

 

Advertisement

“หากสำเร็จสามารถบริหารน้ำได้ตลอดห่วงโซ่ ก็จะเป็นชุดระบบการจัดการที่รัฐบาลสามารถนำไปขับเคลื่อนในระดับประเทศในลุ่มน้ำต่างๆทั่วประเทศ”

นอกจากนั้น ล่าสุดกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้ให้แนวความคิดกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน ศึกษาโมเดลการบริหารจัดการน้ำ จะเป็นการศึกษาโครงการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีด้วยฝนหลวง โดยกรมอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่องบศึกษาจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือสวก.

“การศึกษาชุดนี้หากสำเร็จ จะเป็นโมเดลแรกของโลกที่ศึกษาการบริหารน้ำ ที่ผนวกเอาน้ำที่มาจากการทำฝนหลวงเข้าไปเป็นมูลฐานในการศึกษาด้วย จากปกติที่ทั่วโลกจะใช้เฉพาะน้ำฝนจากธรรมชาติ มาศึกษาเท่านั้น แต่จากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีการทำฝนหลวงเข้ามาเสริมมากขึ้น เมื่อฝนหลวงเข้ามาเพิ่มเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ จึงจำเป็นที่ต้องนำเอาผลของการปฏิบัติฝนหลวงมาเป็นข้อมูลที่จะต้องศึกษาด้วย เพื่อให้คลุมทั้งน้ำจากธรรมชาติและน้ำจากการทำฝนหลวง”


โครงการศึกษาทั้งหมดจะใช้พื้นที่เขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่ปี 2560 พื้นที่เป้าหมาย 2,142,.69 ตารางกิโลเมตร พื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์ 13,000 ไร่ การบูรณาการศึกษาคือการปลูกป่าเพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ สำหรับเพิ่มโอกาสทำฝน โดยกรมฝนหลวงฯ จะตรวจติดตามปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างและการบริหารน้ำ การคำนวนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับทุกกิจกรรมการใช้น้ำจริงของประชาชนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน

สำหรับในปี 2562 โครงการโปรยเมล็ดพันธุ์ปลูกป่าเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ของกรม ยังได้ขยายไปในหลายพื้นที่ อาทิ บริเวณอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว โดยจะมีการติดตามและประเมินผลโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชด้วย ร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน ที่ช่วยกันปลูก นอกจากเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศแล้ว ทุกความชื้นจากดินและป่า คือต้นทุนของฝนทุกหยดที่จะกลับมาตอบแทนให้คนไทยทุกคน เพราะธรรมชาติย่อมพึ่งพากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image