‘ฝนหลวงศาสตร์พระราชา’ พระเมตตาไร้พรมแดน

ศาสตร์พระราชาฝนหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงคิดค้นจนประสบความสำเร็จและนำมาสู่ ศาสตร์พระราชาฝนหลวง ที่คลายทุกข์ยากแก่ประชาชนคนไทยมาต่อเนื่อง และในยามที่วิกฤติที่สุด ไม่ว่าจะแล้งขาดแคลนน้ำ ฝุ่นละออง หรือหมอกควัน คนไทยตระหนักดีว่า จะมีฝนหลวงมาช่วยคลายทุกข์ให้กับพวกเราชาวไทย นับแต่ทรงพระราชทานศาสตร์ฝนหลวง และตำราฝนหลวงพระราชทาน พระอัจฉริยภาพทรงแผ่ไพศาล นานาประเทศมีการแสดงความประสงค์ที่จะขอเข้ามาศึกษา ศาสตร์พระราชาฝนหลวงในไทย และหลายประเทศขอพระราชทานพระกรุณาเพื่อให้ไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศนั้น

ยุทธศาสตร์สำคัญของกรมฝนหลวง จึงกำหนดเพื่อเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียในอีก 7 ปีข้างหน้า และเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาฝนหลวงภายในปี 2580 ระหว่างนั้นกรมจึงมีการวางแผนเพื่อพัฒนากำลังคน อากาศยาน เครื่องมือ อุปกรณ์ และด้านวิชาการเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจดังกล่าว

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า มีหลายประเทศที่แจ้งความประสงค์เข้ามาเพื่อขอพระราชทานให้มีการเข้ามาศึกษาศาสตร์พระราชาฝนหลวง หรือให้ไทยไปถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ต้องโดยพระบรมราชานุญาต จากนั้นกรมฝนหลวงจึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยเบื้องต้นต้องไปดูพื้นที่จริง สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ของประเทศนั้นๆ ก่อนที่จะมาสรุปว่า มีโอกาสที่จะทำความร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้ ด้านศาสตร์พระราชาฝนหลวงร่วมกันหรือไม่ และต้องมีการถวายรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆต่อกองราชเลขาธิการ

Advertisement

ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯมีการติดต่อเพื่อทำความร่วมมือกับต่างประเทศ 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ทั้งนี้ความก้าวหน้า ความร่วมมือของแต่ละประเทศกับไทย จะต่างกันไป ตามข้อจำกัดของแต่ละประเทศ เช่นด้านงบประมาณ เป็นต้น

ทั้งนี้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมฝนหลวงฯ และนานาประเทศนั้น เพื่อศึกษาและพัฒนาให้การทำฝนหลวง สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ ทั้งการทำฝนเมฆเย็น เมฆอุ่น และรวมถึงการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การพัฒนาจรวดฝนหลวง พลุทำฝน และสารฝนหลวงที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดปริมาณและน้ำหนักของสารฝนหลวงที่จะต้องนำขึ้นไปบนเครื่องบิน แต่จะรักษาประสิทธิภาพไว้ตามศาสตร์ที่ทรงพระราชทานไว้

สำหรับตัวอย่างความร่วมมือกับนานาชาติที่กรมได้มีการบันทึกความก้าวหน้าของความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี 2559 ไว้ในเวบไซด์ของกรมฝนหลวงฯอาทิ ความร่วมมือกับ ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ที่มีการอบรมต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง การสาธิตการทำฝนในจอร์แดน การส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำในการปฏิบัติการฝนหลวง ขณะที่จอร์แดนได้มีการทดลองปฏิบัติการทำฝนระหว่าง ธ.ค. 2560 – ก.พ. 61 จำนวน 12 ครั้ง และผู้บริหารระดับสูงของจอร์แดนได้เดินทางมามาศึกษาดูงานในไทยระหว่าง 10-12 ต.ค. 61 อย่างไรก็ตามประเทศจอร์แดนประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณที่จะดำเนินการทดลองการปฏิบัติการได้ต่อเนื่อง

ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางกรมฝนหลวงฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปศึกษาดูงานการดัดแปรสภาพอากาศของจีน 2ครั้งเมื่อปี 2559 และ 2561 โดยจีนมีความก้าวหน้าในการใช้จรวดฝนหลวง โดยทางกรมได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการแลกเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาปรับใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งทางสำนักราชเลขาธิการได้ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงมาร่วมพิจารณาแนวทางด้วย อีกตัวอย่างคือความร่วมมือกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ที่ประสบภัยแล้งต่อเนื่อง และประสานเพื่อขอเรียนรู้เรื่องฝนหลวง เพื่อไปปรับใช้สำหรับการเติมน้ำในเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งผู้บริหารมาดูงานในไทย นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับประเทศมองโกเลีย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการการฝนหลวงในประเทศเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จะเห็นว่า ศาสตร์พระราชาฝนหลวงในวันนี้ นอกจากได้สร้างคุณประโยชน์เป็นพระมหากรุณาธิคุณกับคนไทยทั้งปวงแล้ว พระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังเอื้อต่อคนทั้งปวงโดยไร้พรมแดนอีกด้วย…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image