‘เครือข่ายม่อนแจ่ม’ ร่อนหนังสือ ขอใช้ กม.อย่างเป็นธรรม อ้างกลุ่มชาติพันธุ์โดนเลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เครือข่ายชาวม่อนแจ่มเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน กว่า 300 คน นำโดยนายชัยชนะ สุขสกุลปัญญา อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเก่า หมู่ 7 ได้เข้ายื่นหนังสือ พร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 600 ราย กับนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กรณีขอให้บังคับใช้กฎหมายต่อชาวไทยภูเขาอย่างเป็นธรรม พร้อมร้องเรียนกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดน้ำ ตัดไฟ และสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้ผู้ประกอบการ จำนวน 116 ราย ได้รับความเดือดร้อน จนไม่สามารถดำเนินกิจการและให้บริการบ้านพักและโฮมสเตย์บนม่อนแจ่ม ซึ่งมีนายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ นายวัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยง พ.ต.อ.มาโนช สุดสวาสดิ์ ผกก.สภ.แม่ริม พร้อมเจ้าหน้าที่และหน่วยความมั่นคงกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมสังเกตการณ์ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งนายวีระพันธ์ได้รับเรื่องแล้ว ก่อนนำเสนอนายเจริญฤทธิ์พิจารณาและสั่งการตามลำดับ

ทั้งนี้ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้โทรโข่งปราศรัย พร้อมชูป้ายข้อความ อาทิ “ผู้บุกเบิกไม่ใช่บุกรุก” “คืนความสุขให้ประชาชน” “ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ตัดความยุติธรรม” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตัดไฟที่พ่วงต่อกับโครงการหลวงหนองหอย จำนวน 37 ราย และถอนเสาติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์ออก พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิถุนายน 2541 พร้อมเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพัฒนาม่อนแจ่ม เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยให้ม่อนแจ่มเป็นโมเดลการพัฒนาบนพื้นที่สูง

นายวีระพันธ์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเชื่อว่ามีทางออก แต่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่ละเว้น ชาวบ้านสามารถทำกินได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจเสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย เพราะมีผลกระทบกับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวด้วย

Advertisement

ด้านนายชัยชนะกล่าวว่า ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน คือบ้านหนองหอยเก่า หมู่ 7 บ้านหนองหอยใหม่ หมู่ 11 และบ้านแม่ขิ หมู่ 4 กว่า 1,500 คน ได้รับความเดือนร้อนจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อชาวบ้าน ใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมดำเนินคดี พร้อมใช้มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการบ้านพักโฮมสเตย์ดำเนินกิจการได้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ หรือเมื่อ 4 วันที่ผ่านมา ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และมีหนี้สินเพิ่ม อยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกับเครือข่ายและกลุ่มชาติพันธ์ ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะได้ตั้งรกรากถิ่นฐานและที่ทำกินก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนป่าแม่ริม

ขณะที่นายกมลกล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบุกรุกป่าดังกล่าวแล้ว เพื่อพิจารณา 4 ประเด็นคือ การขึ้นทะเบียนบัญชีผู้อยู่อาศัยตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และไม่บุกรุกเพิ่มเติม แต่มีผู้ทำผิดเงื่อนไขและแจ้งความดำเนินคดี 27 รายแล้ว เนื่องจากโฮมสเตย์และบ้านพักตากอากาศบางส่วนตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชัน และเสี่ยงต่อดินถล่ม อาจเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวได้

Advertisement

“ปัญหาดังกล่าว นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ มอบนโยบายให้ฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าดังกล่าว ที่ครอบคลุมกว่า 3,000 ไร่ ส่วนการแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และมติ ครม. เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเข้ามาสู่ระบบและถูกต้องตามกฎหมายภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน พร้อมสร้างความร่วมมือกับชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมตามขั้นตอนกฎหมาย ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นขบวนการพัฒนาและทิศทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป” นายกมลกล่าว

กรณีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์นั้น นายกมลยืนยันว่ายังไม่มีการตัดน้ำตัดไฟ ส่วนเสาสัญญาณโทรศัพท์ต้องรื้อถอนออก เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาต แต่ใช้รถโมบายเคลื่อนที่บริการแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ซึ่งพื้นที่สร้างบ้านพักและโฮมสเตย์มีกว่า 300 ไร่ จากพื้นที่ 3,000 ไร่ จำเป็นต้องจัดระเบียบ ควบคุม พร้อมพัฒนาควบคู่กัน ไม่ให้ขยายลุกลามวงกว้างอีก

วันเดียวกันนี้ นายวิชิต เมธาอนันต์กุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชิงเกษตรม่อนแจ่ม เป็นตัวแทนเครือข่ายดังกล่าว ไปยื่นหนังสือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กรณีตัดน้ำ ตัดไฟ และสัญญาณโทรศัพท์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการบ้านพักโฮมสเตย์บนม่อนแจ่มได้ประกาศยกเลิกจองบ้านพักและโฮมสเตย์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรือ 3 วันที่ผ่านมาแล้ว ยกเว้นบางส่วนที่จองล่วงหน้าและจ่ายเงินแล้ว จะให้บริการจนถึงกุมภาพันธ์นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ กรมป่าไม้ ตั้งฐานปฏิบัติการบนม่อนแจ่ม เพื่อควบคุมดูแลและเฝ้าระวัง ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวและเดินทางกลับในเวลา 11.45 น.

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image