สนองนโยบาย ‘อนุทิน’ โคราชเปิดคลินิกกัญชานำร่อง รักษาผู้ป่วยจิตเวช ตามตำรับยาไทยดั้งเดิม

เปิดคลินิกกัญชานำร่องแห่งแรก เพิ่มโอกาสเข้าถึงการใช้กัญชายาไทยตำรับดั้งเดิม ช่วยนอนไม่หลับ – รับประทานอาหารได้มากขึ้น

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม น.พ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต น.พ พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 9 และ น.พ นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง น.พ กิตต์กวี โพธิ์เงิน ผู้อำนวยการ ร.พ จิตเวชนครราชสีมา น.พ วิชาญ คิดเห็น ผอ.รพ.สูงเนิน และนางฐิวรรณี กันหามาลา ผู้จัดการ บริษัท รักจังฟาร์ม จำกัด ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์ม อ.วังน้ำเขียว ในโครงการปลูกสมุนไพรกัญชาแบบออร์แกนิคปลอดภัย เพื่อนำมาผลิตตำรับยาแผนไทยต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของกัญชาใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ รพ.จิตเวชฯ จากนั้นได้ร่วมทำพิธีเปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย รพ.จิตเวช” โดยมีผู้บริหารบุคลากรทางการแพทย์และองค์กรต่างๆ ร่วมแสดงความยินดีกันอย่างชื่นมื่น

น.พ สำเริง เปิดเผยว่า การเปิดคลินิกกัญชาผสมผสานแบบแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน ร.พ จิตเวช ครั้งนี้ ถือเป็นการสนองนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขได้ครบวงจร นอกจากได้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่ได้จากการปลูกกัญชาและอบใบแห้งนำมาจำหน่ายให้ ร.พ.จิตเวชฯ และจัดส่งให้ ร.พ.สูงเนิน ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี โดย ร.พ.จิตเวชฯ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตเวชเป็นฝ่ายใช้และยกระดับมาตรฐานการใช้สมุนไพรไทยในทางการแพทย์อย่างจริงจัง มีวิชาการรองรับตามมาตรฐานสากล จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นยอมรับในเรื่องคุณภาพมากขึ้น

“ที่ผ่านประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีระบบไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน จึงมีการใช้กัญชาใต้ดินนับล้านคน แต่ใช้ตามระบบแพทย์แผนปัจจุบันเพียง 1-2 พันคน ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของเขตสุขภาพที่ 9 ได้เปิดคลินิกกัญชา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ครอบคลุม โดยเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานและขยายผลนำใช้ใน ร.พ.ชุมชน รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษา ดูงานต่อไป” น.พ สำเริง กล่าว

Advertisement

น.พ เกียรติภูมิ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้ ร.พ.ในสังกัดเปิดให้บริการคลินิกกัญชาผสมผสาน เพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยยาแผนไทยตำรับกัญชา เพิ่มโอกาสในการรักษาให้ผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรัง และตั้งคลินิกให้คำปรึกษากัญชาทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุด

โดย คลินิกกัญชาของ ร.พ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ระยะแรกใช้ 2 ตำรับคือยาไทยตำรับศุขไสยาสน์ ซึ่งเป็นใน 1 ใน 16 ตำรับยาไทยดั้งเดิม ที่มีส่วนประกอบของกัญชาและมีข้อมูลทางวิชาการรองรับชัดเจนว่ามีสรรพคุณรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้นและใช้น้ำมันกัญชาให้บริการผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่มีปัญหานอนไม่หลับและรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ดีขึ้น ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีผู้ป่วยรักษาจำนวน 268 คน เป็นชาย 111 คน หญิง 157 คน ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) 68 คน 2. วิตกกังวล (Anxiety) 120 คน และ3. กลุ่มโรคความจำเสื่อม 80 คน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคทางจิตยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่มีปัญหานอนไม่หลับหรือหลับยาก ยาทั้ง 2 ตำรับนี้จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ด้าน น.พ กิตต์กวี ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า คลินิกกัญชาให้บริการสัปดาห์ละ1 วัน คือวันพฤหัสบดี เวลา 8.30-16.30 น. มีทีมบุคลากรผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ให้บริการ 9 คน ประกอบด้วยจิตแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชกร พยาบาลจิตเวช นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ สามารถรับบริการได้ตามความสมัครใจต้องอยู่ใน เงื่อนไข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คือ

Advertisement

1. อายุ 18 ปีขึ้นไป ผ่านการตรวจประเมินตามขั้นตอนจากจิตแพทย์ ระบุอาการทางจิตใจอยู่ในสภาวะสงบและคงที่

2.ไม่ป่วยเป็นโรคจิต ไบโพล่า

3.ไม่มีประวัติใช้สารเสพติดรวมทั้งเหล้าและบุหรี่

4.การทำงานของตับและไตเป็นปกติ

โดยแพทย์แผนไทยจะจ่ายยาศุขไสยาสน์ ซึ่งเป็นชนิดผงชงละลายน้ำดื่มวันละ 1 ครั้งก่อนนอนหรือจ่ายน้ำมันกัญชา และนัดติดตามผลทุก 1-2 สัปดาห์

ระหว่างนี้ทีมเภสัชกรจะติดตามผลหลังกินยาในช่วงสัปดาห์แรก โดยประเมินผลภาพรวมทั้งด้านคุณภาพการนอนหลับ อาการวิตกกังวล คุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพการรักษา รวมทั้งอาการข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น ง่วงนอนมากกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หมุนเวียนศีรษะในอีก 3 เดือน ก่อนเพิ่มตำรับอื่น ๆ คือสารสกัดกัญชาในระยะต่อไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image