อุบลไบโอลุย! โมเดล ‘ออร์แกนิคไบโอฮับ’ สร้างตลาดชีวภาพและอาหารปลอดภัย

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่บริษัทอุบลไบโอเอทานอล นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศ เป็นผู้นำหลักในการพัฒนาศักยภาพพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ และจ.อำนาจเจริญ) เพื่อยกระดับจากอุตสาหกรรมการเกษตรขั้นพื้นฐานเป็นเกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม ต่อยอดจุดแข็งและความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ในการเป็นผู้นำในการผลิตพลังงานทดแทน และการแปรรูปอาหารขั้นต้นจากมันสำปะหลัง

โดยการจับมือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ให้ร่วมผลักดันอีสานตอนล่าง 2 บ้านเฮา เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals) ซึ่งการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสูงประเภทนี้ จะช่วยยกระดับให้ทั้งซับพลายเชนสามารถหลุดพ้นการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ให้มีรายได้สูง (High income) ตรงเป้าหมายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้สู่เกษตรกรฐานราก แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากร และการจัดการบนพื้นฐานความยั่งยืน

โดยมุ่งหวังให้เกิดสิทธิประโยชน์ในการลงทุนใหม่ๆ ในภาคเกษตรอุตสาหกรรม การยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ดี มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปอย่างต่อเนื่อง มีระบบการขนส่งที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบินอุบลราชธานีสู่ความเป็นสากล การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่สามารถทำได้จริง สร้างรายได้ให้เกษตรสูงขึ้นจริง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจริง

Advertisement


นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงงานในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลทั้ง 4 บริษัทได้แก่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด บริษัท อุบล ไบโอก๊าซ จำกัด บริษัท เอ็น พี ไบโอ เอนเนอร์ยี่ จำกัด เป็นโรงงานต้นแบบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพขนาดใหญ่ และครบวงจรที่สุดในภาคอีสาน ดำเนินธุรกิจเริ่มแรกในปี 2551 ผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร และมีผลพลอยได้จากวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอก๊าซ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“วันนี้เรามาทำธุรกิจในจ.อุบลราชธานี เราได้เห็นคนอุบล และคนอีสานย้ายถิ่นฐานกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิด ผมมองว่ากลุ่มจังหวัดฯ อีสานล่าง 2 ของเรามีศักยภาพ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลก จึงควรใช้โอกาสนี้รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม ซึ่งทำได้ไม่ยาก ให้กลายเป็น Ecosystem ในกลุ่มจังหวัดฯ ของเรา ที่จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น สำหรับภาพรวมในอีก 5 ปีข้างหน้า ทางบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เอทานอล จะตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการกำหนดให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันขั้นพื้นฐาน จะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศสูงขึ้น หรือการจำหน่ายเอทานอล ในเกรดอุตสาหกรรมในธุรกิจด้านเวชสำอางค์ เป็นต้น จะทำให้ทางบริษัทฯ สามารถขยายกำลังการผลิตเอทานอลได้ในอนาคต การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงไม่ว่าจะเป็น สาคูออร์แกนิค สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ฯลฯ อีกมากมาย รวมทั้ง การสร้างธุรกิจใหม่ๆโดยมุ่งเน้น การทำ Organic product ที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพในตลาดโลก นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีแผนการผลิตแก๊สชีวภาพจากวัสดุของเหลือใช้ และหญ้าเนเปียร์ เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทฯ และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสร้างรายได้ที่มั่นคง และสามารถแบ่งปันให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายเดชพนต์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image