โคราชเตรียมรับวิกฤตขาดน้ำอุปโภคบริโภค ประกาศเพิ่มอีก 1 พื้นที่ประสบภัยแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ปากคลองส่งน้ำชลประทาน หน้าประตูระบายน้ำโพธิ์เตี้ย ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 มกราคม นางสาวอ้อม แซ่แต้ ประธานสหกรณ์ผู้ใช้น้ำโพธิ์เตี้ย พร้อมสมาชิก ซึ่งเป็นผู้แทนการประปาท้องถิ่นและชาวบ้านกว่า 50 คน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง เพื่อระดมสูบน้ำดิบในลำบริบูรณ์ ลำน้ำสาขาลำตะคอง ซึ่งมีปริมาณน้ำในคลองน้ำธรรมชาติประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่เก็บกัก

น.ส อ้อม ฯ ประธานสหกรณ์ผู้ใช้น้ำโพธิ์เตี้ย เปิดเผยว่า ขณะนี้การประปาท้องถิ่นในพื้นที่ ต.ปรุใหญ่ ต.หนองจะบก และ ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง ซึ่งเป็นกลุ่มใช้น้ำดิบจากลำบริบูรณ์มาผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้ประชาชนกว่า 5 พันคน กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ สมาชิก ฯ จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันตามสภาพ เพื่อระดมสรรพกำลังสูบน้ำดิบไปกักเก็บไว้ในสระพักน้ำดิบหน้าโรงกรองน้ำท้องถิ่นแต่ละแห่ง คาดประมาณ 1 สัปดาห์ ปริมาณน้ำจะลดลงจนมีสภาพแห้งขอด ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำต่อได้อีก อุปสรรคสำคัญปริมาณน้ำดิบที่เหลืออยู่ในลำบริบูรณ์ ซึ่งเป็นลำตะคองช่วงตอนล่าง มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องบริหารจัดการอย่างเข้มข้น เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ ฯ มีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา (ชป.8 ) กล่าวว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่สามารถใช้การได้รวม 95.252 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 30.29 % ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมน้อยกว่าช่วงเวลาต้นปีที่ผ่านมา กว่า 40 ล้าน ลบ.เมตร เพื่อให้ผ่านช่วงฤดูแล้ง จึงได้บริหาร จัดการน้ำตามมติของคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ลุ่มน้ำลำตะคอง ให้ระบายน้ำ อัตราวันละ 1.8 แสน ลบ.เมตร หรือเดือนละ 12 ล้าน ลบ.เมตร เพื่อสนับสนุนกิจการประปากว่า 100 แห่ง ในพื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้น้ำรวม 4 แสนคน

โดยช่วงเช้าของทุกวัน หน่วยติดตามน้ำ ซึ่งเป็นการสนธิกำลังร่วมระหว่างทหาร เจ้าหน้าที่ปกครองและชลประทาน จะออกลาดตระเวนตามเส้นทางน้ำธรรมชาติ เพื่อป้องปรามการนำสิ่งกีดขวางมาวางกั้นในคลองน้ำธรรมชาติ เพื่อผันน้ำดิบเข้าแปลงนาซึ่งได้รับความร่วมมือค่อนข้างดีปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม มีปริมาณฝนน้อย จะทำให้มีสภาวะแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ การประปาทุกแห่ง ต้องเร่งสำรองน้ำดิบไปเก็บกักให้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมืองดทำนาปรังอย่างเด็ดขาด

Advertisement

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง จำนวน 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 466,528 ไร่ โดยมี อ.แก้งสนามนาง อ.ขามสะแกแสง อ.คง อ.โนนไทย อ.โนนแดง อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ อ.บัวลาย อ.พระทองคำ และล่าสุดคือ อ.บัวใหญ่ ส่วนโครงการชาวโคราชสร้างฝายสู้ภัยแล้ง ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น 185 ฝายพร้อมระดมสูบน้ำดิบกว่า 33 ล้าน ลบ.เมตร ไปเก็บกักไว้ใช้ผลิตน้ำประปาในช่วงหน้าแล้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image