กะเหรี่ยงสวนผึ้งรอคิวขึ้นทะเบียนอีกกว่า 9,000 คน

ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดราชบุรี จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้สิทธิทางกฎหมาย และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ขณะที่งานทะเบียนสวนผึ้งทำได้เพียงปีละร้อยกว่าคน มีราษฎรบนพื้นที่สูงรอคิวอีกกว่า 9,000 คน

( 11 มี.ค. 63 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดราชบุรี ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้สิทธิทางกฎหมาย และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐของชุมชนบนพื้นที่สูง ตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดระเบียบและเสริมความมั่นคง โดยมีชาวบ้านตำบลตะนาวศรีและตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เข้าร่วมกว่า 200 คน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ราษฎรบนพื้นที่สูงซึ่งที่สวนผึ้งทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยง รัฐไทยถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพราะอาศัยอยู่บริเวณนี้มาเนิ่นนานแล้ว ถ้าเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศดั้งเดิมจะได้รับสัญชาติไทย เพราะเป็นชาวเขาติดแผ่นดิน แต่กลุ่มที่อพยพมานานก็จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติให้ แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีที่ยังตกหล่นไม่ได้จัดทะเบียนอีกจำนวนมาก
นายชนันต์ อินทรักษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ชี้แจงว่า อำเภอสวนผึ้งเป็นพื้นที่ชายแดน มีชาวกะเหรี่ยงอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีค่ายผู้ลี้ภัยอีกด้วย เฉพาะพื้นที่สองตำบลคือ ตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี มีบุคคลที่รัฐจัดทำทะเบียนไว้ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยกว่า 13,000 คน ยังไม่รวมผู้ตกหล่นที่ยังไม่ได้จัดทำทะเบียนเลยอีกจำนวนมาก เมื่อคนเหล่านี้มาติดต่อสำนักทะเบียนสวนผึ้ง เพื่อแจ้งเกิด เพิ่มชื่อ ขอหนังสือรับรองการเกิด และขอสัญชาติไทย เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย จึงต้องออกบัตรคิวให้ทยอยมาดำเนินการ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2560-2563 มีผู้ได้รับการดำเนินการไปแล้ว 453 ราย ยังตกค้างอีก 9,144 ราย ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือและเร่งรัดการดำเนินการของฝ่ายทะเบียนอำเภอสวนผึ้ง เนื่องจากข้อมูลที่ได้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการได้เพียงปีละ 100 กว่าคนเท่านั้น ยังมีชาวบ้านอีก 9,144 คนที่รอการดำเนินการ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะเสร็จ ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิรวมถึงลูกหลานที่เกิดใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังพบการให้ชาวบ้านไปตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันความเป็นพ่อแม่ลูก ทั้งที่มีพยานบุคคลมายืนยันหลายคนแล้ว ซึ่งขัดกับหนังสือสั่งการของกรมการปกครองที่ให้ตรวจดีเอ็นเอเฉพาะที่ไม่มีพยานยืนยัน

Advertisement

ด้านนางจีรนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ทางศูนย์จะประสานงานให้เกิดอาสาสมัครล่ามชุมชนด้านสถานะ ในการช่วยชาวบ้านจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสและขาดความรู้ในการดำเนินการและติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐตามความเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image