นักวิชาการแนะใช้กม.ฉุกเฉินแก้โควิด–19 ควบคู่มาตรการเยียวยาประชาชน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า การประกาศพระราชกำหนด (พรก.) ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 อาจจะเป็นเครื่องมือในการกำกับการเคลื่อนย้ายผู้คน เพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาด แต่ภาพรวมทั้งหมดสิ่งสำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤต จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีการปรับแก้กลไกหรือจัดโครงสร้างการทำงานให้มีเอกภาพมากขึ้น เช่น สามารถสั่งการข้ามหน่วยงานต่างๆได้ ความรวดเร็วในการทำงาน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาบริหาร ขณะที่การบริหารสถานการณ์ จะต้องมีการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นด้วยในบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมด้านปัจจัยในการป้องกันตนเอง เนื่องจากการใช้กฎหมายฉุกเฉินในภาพรวมอาจแก้ไขปัญหาได้บางมิติเท่านั้น

“ยอมรับว่ามีความความจำในการใช้กฎหมายฉุกเฉิน เพราะที่ผ่านมามีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ทั้งการปิดสถานที่บางแห่งของ กทม.จังหวัดปริมณฑล มีการปิดห้างสรรพสินค้า การรณรงค์ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน แต่เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในจุดนี้ก็อาจมีความจำเป็น แต่ยืนยันอีกครั้งว่ากฎหมายฉุกเฉินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แม้ว่าการประกาศจะไม่ล่าช้า เพราะหากประกาศก่อนหน้านี้อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือ มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนมากกว่านี้ อาจจะส่งผลกระทบกับภาคส่วนต่างๆทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม” นายยุทธพร กล่าว

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐบาลทำล่าช้าคือการจัดการต่างๆ ในสถานการณ์วิกฤต เช่น การยกระดับหรือการปรับโครงสร้างวอร์รูม การสื่อสารมีภาวะวิกฤตเดิมไม่มีเอกภาพ เป็นปัญหาจากโครงสร้างของรัฐราชการแบบใหม่ โครงสร้างของรัฐบาลผสม และการบริหารจัดการที่ผ่านมาหากจะทำได้ดีกว่านี้ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน ส่วนมาตรการเยียวยาผลกระทบของประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการประกาศกฎหมายฉุกเฉินทำให้การประกอบอาชีพของผู้คนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบเพิ่ม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเยียวยา เช่น การชดเชยค่าแรง ชดเชยในรูปแบบของสวัสดิการสังคม เรื่องเหล่านี้จะต้องมาควบคู่กับการใช้กฎหมายฉุกเฉิน ที่สำคัญอาจทำให้เกิดความเปราะบางหรือสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องระวังพอสมควร

“หากมีการประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน แต่อีกด้านหากประชาชนยังขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการป้องกันตนเองทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าในที่สุดแล้วในหลักการที่บอกว่าทุกคนต้องเข้าถึงได้เรื่องสาธารณสุข ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังจากภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รัฐจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ขายหน้ากากเฉพาะในร้านธงฟ้าที่มีภาพประชาขนรอคิวซื้อสินค้าที่มีจำกัดทำให้มีความเสี่ยงกับการแพร่เชื้อ ดังนั้นหากมีการใช้กฎหมายฉุกเฉินแต่ไม่ได้มองผลกระทบจากมิติด้านอื่นในด้านการบริหารจัดการ ก็คงไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร และหลังประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉินไม่ควรดึงอำนาจไปรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลทั้งหมด” นายยุทธพร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image