เหลือไม่มากแล้ว! ประมงสกลนครเร่งขยายพันธุ์ปลากาดำ ระบบนิเวศเปลี่ยนทำปริมาณลดฮวบ

วันที่ 12 กรกฎาคม ว่าที่ ร.ท.สมพร กุลบุญ ประมงสกลนคร เปิดเผยว่า สถานการณ์ของปลากาดำ หรือภาษาถิ่น เรียกว่า ปลาอีก่ำ ก่ำที่แปลว่าดำคล้ำ เลยถูกเรียกปลาตามสีของตัวปลาชนิดนี้ โดยสถานการณ์ของปลาชนิดนี้ ปัจจุบันตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น เขื่อน หรือ อ่างเก็บน้ำ เริ่มลดน้อยถอยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ รวมถึงการใช้สารเคมีทำการเกษตรของชาวบ้าน เป็นผลต่อแหล่งน้ำที่อาศัยของปลากาดำ ปัญหาการตื้นเขินของแหล่งน้ำสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ก็มีผลต่อการขยายพันธุ์และการวางไข่ ซึ่งปลาชนิดนี้จะวางไข่ตามแหล่งน้ำที่ไหลเชี่ยว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ในส่วนของหนองหารจากการสุ่มสำรวจพบว่า ปลากาดำเหลือน้อยมากจนน่าตกใจ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทำประมงไม่ถูกวิธีสภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำของหนองหาร

สำหรับ ปลากาดำ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดประจำจังหวัดสกลนคร อยู่ในจำพวกปลาตะเพียน ลักษณะรูปร่างป้อม หลังป่องออก ครีบหลังสูง ไม่มีก้านครีบแข็ง มีหนวดค่อนข้างยาว 2 คู่ และมีติ่งเล็กๆ เป็นชายครุยอยู่รอบๆ บริเวณริมฝีปาก เกล็ดเล็กมีสีแดงแซมอยู่ในเกล็ด ครีบหางเว้าลึก ลำตัวสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม อันเป็นที่มาของชื่อ มักหากินตามพื้นท้องน้ำ โดยการแทะเล็มตะไคร่น้ำหรือสาหร่าย มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร ประมงจังหวัดสกลนครและศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร จึงเร่งขยายพันธุ์ปลากาดำอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจะปล่อยลงสู่หนองหาร เขื่อนน้ำพุง เขื่อนน้ำอูน และแหล่งน้ำน้อยใหญ่อีก 112 แห่ง จำนวนกว่า 1 ล้านตัว เพื่ออนุรักษ์และรักษาพันธุ์ปลากาดำให้คงอยู่ไว้ ท่ามกลางความสมดุลของชาวบ้านที่จะได้ประโยชน์จากการจับมาบริโภคและงดจับปลากาดำในฤดูวางไข่

ส่วนประโยชน์จากปลากาดำ นอกจากการนำมาบริโภคโดยการปรุงสด เช่น ลาบปลา หรือนำมาทำน้ำยาขนมจีน เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่มีเนื้อมาก นอกจากนี้สามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image