โควิด-19ฉุดดัชนีเชื่อมั่น 14 จังหวัดใต้ “ดิ่งเหว” ติงมาตราการเยียวยา 5 พันไม่ชัดเจน

โควิด-19 “ฉุด” ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ “วูบ” แนะภาครัฐใช้มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เตรียมพร้อมตั้งสถานพยาบาลสนาม ดึงงบกลางมาใช้ ออกมาตรการคุมเข้มหนี้นอกระบบที่ผุดเหมือนดอกเห็ด ติงรัฐบาลมาตรการเยียวยา 5000 บาทไม่ชัดเจน

 

วันที่ 1 เม.ย. ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่าเดือน มี.ค.โดยรวมปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ.

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้มากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ได้ลุกลามและแพร่กระจายในสู่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้มากกว่า 10 จังหวัด จาก 14 จังหวัด มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อกว่า 200 ราย และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐเร่งออกมาตรการมากเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ยกระดับความเข้มข้นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในระดับที่ลดน้อยลงและไม่พบผู้ติดเชื้ออีกเลย”

Advertisement

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าได้สัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข มาตรการของภาครัฐและข้อเสนอแนะ ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่ติดไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยให้ใช้มาตรการเชิงรุก อย่าให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยหาทางแก้ไข เพราะอาจจะไม่ทันท่วงที เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

“ต้องการให้ภาครัฐเตรียมการให้พร้อม ตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อการรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่าพื้นที่ทั้งหมดของโรงแรมที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาพัก รองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นเพื่อเฝ้าดูอาการใช้โมเดลแบบประเทศจีน

Advertisement

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่านำ อสม. เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และสถานพยาบาลที่ขาดแคลนบุคลากร มีค่าตอบแทนและประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติเมื่อเสร็จภารกิจและ รับสมัครและจ้างอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาพยาบาลให้เข้ามาช่วยเหลือในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล

“อนุมัติงบกลาง 500,000 ล้านบาทส่วนหนึ่ง มาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ทุกโรงพยาบาลในทุกจังหวัด ให้มีเพียงพอและครบครัน เพิ่มสวัสดิการเป็นเงินพิเศษในแต่ละเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19”

ผศ.ดร.วิวัน์เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละจังหวัด ลงพื้นที่ทำความสะอาด เช็ดถู ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 บริเวณสถานที่สาธารณะเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของโรค ภูเก็ต ปัตตานี ยะลา ปัตตานี และสงขลา ตั้งด่านจุดตรวจคัดกรองในเส้นทางรอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่ามาตรการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจ พนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่หยุดการแพร่ระบาด

“ออกคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้โรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัย และโรงงานที่ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ให้ผลิตส่งขายให้กับภาครัฐเท่านั้น และให้หน่วยงานภาครัฐกระจายไปยังสถานพยาบาล ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายและป้องกันคนกลาง

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่ามาตรการคุมเข้มการปล่อยหนี้นอกระบบ ซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากขาดรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เมื่อไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ จึงหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ เพราะกู้ง่าย บางรายไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ภาครัฐควรออกมาตรการกับเจ้าหนี้นอกระบบ

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าการเยียวยาแรงงาน 5,000 บาท 3 เดือน ควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบ เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของแรงงานที่อยู่นอกระบบได้ อาจจะทำให้มีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ตามที่ภาครัฐกำหนด แต่ได้ทำการลงทะเบียนเพื่อรับเงิน

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่ามาตรการกำหนดให้ผู้ที่ออกจากอาคารบ้านเรือนและไปพบปะกับบุคคลอื่น ต้องสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19

“ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาสินค้าสูงร้อยละ 27.60 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ ร้อยละ 25.40 และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำร้อยละ 14.80 ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ คือ ราคาสินค้าสูงและค่าครองชีพ” ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image