ประจวบฯสั่งปรับ 2 หมื่นไม่สวมแมสก์ -กู้ภัยหยุดช่วงเคอร์ฟิว

ผู้ว่าประจวบฯใช้ยาแรงสั่งปรับ 2 หมื่นไม่สวมแมสก์ มูลนิธิกู้ภัยหยุดทำงานช่วงเคอร์ฟิว ส่ง ปภ. พยาบาล –ตำรวจช่วยประชาชนแทน

วันที่ 5 เมษายน นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ลงนามในคำสั่งเพิ่มเติม ให้ทุกอำเภอจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านชุมชน ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เพื่อสกัดกั้นการเข้า-ออก ของบุคคลที่มีความเสี่ยง กรณีมีเหตุสงสัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้ดำเนินการกักตัว คุมตัวไว้สังเกตอาการ และให้ไปรับการตรวจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ตาม พ.ร.บ.โรงแรม 2547 ทุกประเภท ยกเว้นโรงแรมที่ราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำหรับโรงแรมที่มีผู้เข้าพักอยู่ก่อนจะมีคำสั่ง ให้ผู้เข้าพักสามารถเข้าพักต่อไปได้จนกว่าผู้เข้าพักจะแจ้งออกจากห้องพักจนหมด แล้วให้ปิดทันทีโดยไม่ให้มีการรับผู้เข้าพักเพิ่มอีก กำหนดให้ประชาชนในเขตจังหวัดทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากบ้านทุกครั้งหากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 20,000 บาท

นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ประธานมูลนิธิสว่างประจวบธรรมสถาน อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยจิตอาสายุติการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อปฎิบัติตามข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ตามพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น.เนื่องจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิในฐานะองค์กรสาธารณกุศลไม่แสวงหากำไร ไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดดังกล่าว ดังนั้นหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนเพชรเกษมเส้นทางสายหลักไป 14 จังหวัดภาคใต้ การกู้ชีพ กู้ภัยควรเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากกรณีชาว จ.นราธิวาส อายุ 57 ปี เสียชีวิตบนรถไฟสายใต้ก่อนถึงสถานีรถไฟทับสะแก ต่อมาตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 19 โดยมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิ อ.ทับสะแก เข้าไปร่วมชันสูตรศพร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.ทับสะแก ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวน 14 รายถูกสั่งกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่มูลนิธิทับสะแกประกาศหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด -19 สั่งการให้นำศพผู้เสียชีวิตทุกรายไปเก็บรักษาไว้ที่โรงพยาบาลของรัฐแทนการเก็บไว้ที่มูลนิธิกู้ภัย และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไปถึงที่เกิดเหตุก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัย แต่ทราบว่าอาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากโรงพยาบาลระดับอำเภอบางแห่งไม่มีห้องเก็บศพ และบางหน่วยงานไม่เคยนำเครื่องตัดถ่างออกมาใช้งานจริง

“ สำหรับมูลนิธิสว่างประจวบฯ ในช่วงเวลาปกติ ยืนยันว่ายังทำหน้าที่ หากมีอุบัติเหตุได้แจ้งให้กู้ภัยทุกรายป้องกันตัวเอง โดยจัดซื้อเสื้อกันฝนดัดแปลงเป็นชุดป้องกันหรือ PPE ใช้ครั้งเดียว พร้อมสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างปลอดภัยแม้ว่าจะไม่ 100 % เพราะไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายใดจะมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดหรือไม่ และในสถานการณ์การระบาดของโรค เจ้าหน้าที่จะไม่ไปรับผู้ป่วยจากบ้านไปโรงพยาบาล แต่ขอให้หน่วยกู้ชีพ 1669หรือเจ้าหน้าที่ อีเอ็มเอส ของโรงพยาบาลดำเนินการแทนทั้งหมด “ นายนิพนธ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image