‘ไข้เลือดออก’ แพร่ระบาดโคราช ซ้ำเติมโควิด คาดปีนี้ระบาดต่อเนื่อง-ยอดผู้เสียชีวิตอาจเท่าปีที่แล้ว

‘ไข้เลือดออก’ แพร่ระบาดโคราช ซ้ำเติมโควิด คาดปีนี้ระบาดต่อเนื่อง-ยอดผู้เสียชีวิตอาจเท่าปีที่แล้ว

ไข้เลือดออก – ตามที่ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า “ในขณะที่เราเฝ้าลุ้นโควิด-19 ใจจะขาด บัดนี้ ‘ไข้เลือดออก’ ได้เข้ามากระจายในโคราชเรียบร้อยแล้ว…ช้ำหนักเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะงานสอบสวนโรคในพื้นที่ที่ไม่รู้จะแยกร่างอย่างไร เตียงก็ต้องพร้อม Covid แต่ไข้เลือดออกก็มาอีกซะงั้น และจากรายงานฉบับที่ 506 วันที่ 31/3/63 ในพื้นที่นครราชสีมา ยอดรวมผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ที่ 119 ราย (DF/DHF/DSS) คาดว่า สรุปยอด 7 วันข้างหน้าน่าจะสูงกว่านี้ พาหะนำเชื้อโรคนี้คือยุงลาย ยุงลายเมื่อกัดคนที่มีเชื้อก็จะพาเชื้อนั้นไปสู่คนถัดไปที่ยุงไปกัดได้ ในระหว่างที่เรากำลังสู้กับข้าศึกตรงหน้า ซึ่งเป็นศัตรูตัวใหม่ แต่บัดนี้ศัตรูตัวเก่าของเรามันคือไข้เลือดออกได้เจาะเข้าพื้นที่หลายพื้นที่แล้ว…”

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวทำให้หน่วยงานราชการที่ควบคุมโรค ออกมาทำงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือกออกกันอย่างเต็มที่ โดยควบคู่กันไปกับโรคโควิด-19 รวมถึงประชาชนต่างตื่นตัว เฝ้าระวังป้องกันตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน นอนกางมุ้ง ปิดประตูหน้าต่าง ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการกันยุง

เมื่อวันที่ 7 เษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของกองโรคติดต่อนําโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคติดต่อนำโดยยุงลายมักพบการระบาดในพื้นที่ภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งร้อน ซึ่งสถานการณ์ของโรคในปี 2562 ตั้งแต่ 1 มกราคม-19 พฤศจิกายน 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากถึง 116,462 ราย และเสียชีวิต 125 ราย จากผลการตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสเดงกีไข้เลือดออก ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า ปี 2560-2562 เชื้อไวรัส DENV-1 และ DENV-2 เป็นชนิดเชื้อเด่น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง DENV-2 เป็นชนิดเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น ในปี 2563 จึงอาจเป็นอีกปีที่มีการระบาดต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิตสูงเหมือนกับปี 2562

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ของกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563 ระบุว่า ช่วง 3 เดือนแรก ไข้เลือดออกระบาดทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 7,134 คน และเสียชีวิตแล้ว 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยเรียน อายุ 5-14 ปี โดยที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2563 พยากรณ์ว่า โรคไข้เลือดออกจะระบาดเกือบทั้งจังหวัด โดยมี 20 อำเภอจาก ทั้งหมด 32 อำเภอที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา ครบุรี โชคชัย โนนไทย โนนสูง ขามสะแกแสง บัวใหญ่ ปักธงชัย พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง สูงเนิน ขามทะเลสอ หนองบุญมาก โนนแดง วังน้ำเขียว เทพารักษ์ ลำทะเมนชัย สีดา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นอกนั้นอีก 12 อำเภอเป็นพื้นที่เสี่ยงปานกลางและพื้นที่เสี่ยงต่ำ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคติดต่อนำโดยยุงลายอีกหนึ่งโรคที่จะต้องเฝ้าระวังเช่นกัน คือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya fever) เพราะปี 2562 พบผู้ป่วยมากถึง 9,792 ราย ซึ่งสูงกว่าปี 2561 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 9 เท่า และจากการรายงานในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-1 เมษายน 2563 พบผู้ป่วยสะสมรวม 728 ราย ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา 4 เท่า อัตราป่วยคิดเป็น 1.10 ต่อประชากรแสนคน โดยเป็นเพศหญิง 462 ราย เพศชาย 266 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 1.7 ต่อ 1 พบได้ทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในเขตเทศบาลร้อยละ 67 และนอกเขตเทศบาล ร้อยละ 33 มีอาชีพรับจ้างร้อยละ 35 รองลงมาคือนักเรียน ร้อยละ 13%, ทำงานบ้าน และเกษตรกร ร้อยละ 5 ซึ่งในพื้นที่ดูแลของเขตสุภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมาที่มีประชากร 2,642,815 คน พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-1 เมษายน 2563 มีผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยาแล้ว 4 ราย

ดังนั้น วอนประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำขังในบ้าน ซึ่งหากบ้านไหนมีคนป่วยไข้เลือดออก หรือไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้รีบแจ้ง รพ.สต. หรือ อสม.ในพื้นที่เพื่อช่วยกันควบคุมโรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image