ศรีสุวรรณ โต้โฆษกกองสลากฯ เลื่อนออกลอตเตอรีครั้งนี้ มีพิรุธ และไม่มีอำนาจสั่งเลื่อน

ศรีสุวรรณ โต้โฆษกสำนักงานสลากฯ ยันต้องออกลอตเตอรี ไม่มีอำนาจสั่งเลื่อนได้

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ยืนยันการพิจารณาเลื่อนการออกรางวัลสลาก ได้ทำตามระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ซึ่งในมาตรา 13 ได้ให้คณะกรรมการสลากฯ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของสำนักงานสลากฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แล้วนั้น

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นเพียงการแก้ตัวที่ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักกฎหมายที่ถูกต้อง เนื่องจากตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ม.13 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ และวางนโยบายของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

“เมื่อพิจารณาตามมาตรา 5 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพียง 3 ข้อ คือ 1.ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.จัดการโรงพิมพ์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลาก และพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการเห็นชอบ และ 3.กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากฯ

การที่คณะกรรมการกองสลากฯมีมติเลื่อนการออกสลากออกไปถึง 3 งวด ถามว่าเป็นการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานสลากฯตรงไหน

Advertisement

ส่วนข้ออ้างที่ว่าข้อบังคับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าด้วยการออกรางวัล พ.ศ.2555 นั้นเป็นการออกข้อบังคับที่ขัดต่อหลักกฎหมายของสลากกินแบ่งรัฐบาลมาตรา 3

ซึ่งถือว่าเป็น “โมฆะ” ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการที่จะกระทำการออกระเบียบหรือข้อบังคับใดที่เกินไปกว่าวัตถุประสงค์ได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การเลื่อนการออกสลากในครั้งนี้มีเงื่อนงำและข้อพิรุธหลายประการที่คณะกรรมการสลากฯ ไม่บอกความจริงกับประชาชน เพราะการเลื่อนการออกสลากครั้งนี้จะทำให้สำนักงานสลากฯ เสียประโยชน์ไปกว่า 5.4 พันล้านบาท จากการพิมพ์สลากออกมาจำหน่ายงวดละ 100 ล้านฉบับ โดยขายให้ผู้แทนจำหน่ายเล่มละ 7,040 บาท แต่เนื่องจากมีผู้ไปลงทะเบียนจองสลากไม่มารับสลากไปขายเป็นจำนวนมาก ทำให้สลากเหลือแต่สำนักงานสลากฯกลับไม่มีมาตรการลงโทษให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ผลักภาระไปให้กลุ่มอื่นๆจำหน่ายแทน จนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการออกสลากออกไปโดยใช้โรคโควิด-19 มาอ้าง ซึ่งไม่คำนึงถึงผู้ซื้อสลากและข้อกฎหมายใช่หรือไม่ ดังนั้นสำนักงานสลากฯควรที่จะต้องตั้งโต๊ะรับซื้อสลากคืนมาจากผู้ซื้อหรือประชาชนที่ซื้อสลากไปแล้ว แต่ไม่ยินยอมให้มีการเลื่อนการออกสลากดังกล่าวจึงจะชอบด้วยหลักการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image