ช็อก! ม้าปากช่องตายไม่หยุด ล่าสุดกว่า 300 ตัว ผู้รับผิดชอบ-ต้นตอระบาด ยังเป็นปริศนา

ม้าปากช่องยังตายทุกวัน พุ่งเกือบ 300 ตัว  เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้า

รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยมีม้าแข่งชื่อดังในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งลูกม้าจำนวนมาก ทยอยล้มป่วยเฉียบพลันด้วยโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า พบตัวแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ม้ามีอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวมหายใจติดขัดเสียงดังเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง โดยที่เจ้าของและคนเลี้ยงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ มีแต่ยืนดูม้ารักตายด้วยอาการขาดอากาศหายใจต่อหน้าต่อตา บางตัวเจ้าของต้องฉีดยา เพื่อให้ม้าไม่ต้องทรมานตายอย่างสงบ ส่งผลให้มีมูลค่าความสูญเสียหลายสิบล้านบาท เหตุเกิดในฟาร์มม้าในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เมษายน นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา พร้อมปศุสัตว์อำเภอปากช่อง เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพัฒนาสุขภาพสัตว์ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดม้าในฟาร์มม้าจำนวน 23 แห่ง ในเขต ต.หมูสี ต.ขนงพระ และ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง โดยมีนายพุฒิพัฒน์ พงษ์ไชยกุล ประธานชมรมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมาและเจ้าของฟาร์มม้าได้อำนวยความสะดวกช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ในการเก็บตัวอย่างเลือดม้าจำนวน 405 ตัว เพื่อนำส่งตรวจตามกระบวนการต่อไป

นายพศวีร์ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า รับรายงานขณะนี้อัตราการม้าตายน้อยลงเฉลี่ยตายวันละ 5-6 ตัว ล่าสุดมีจำนวนม้าตายทั้งสิ้น 290 ตัว มาตรการที่สามารถยับยั้งสกัดการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดต้องใช้วัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การนำเข้าล่าช้ากว่าปกติ จึงดำเนินการคู่ขนานในระหว่างรอการส่งวัคซีนซึ่งมีสรรพคุณป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สายพันธุ์ Serotype 1 จะมาถึงในเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเลือดต้องใช้เวลารอผลตรวจ 1-2 วัน หากผลตรวจเป็นลบหรือไม่พบเชื้อโรคดังกล่าว สำนักงานปศุสัตว์ที่พบการระบาดในพื้นที่จะเบิกจ่ายวัคซีนนำเข้าผ่านกรมปศุสัตว์ เพื่อไปฉีดให้ม้าที่แข็งแรง ซึ่งเรามีจำนวนวัคซีนเพียงพออย่างแน่นอน ในระหว่างรอให้ม้าสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน ผู้ประกอบการต้องสร้างมุ้งขาวหรือมุ้งที่ใช้ปลูกพืชผัก เนื่องจากมีช่องว่างตาข่ายถี่กว่ามุ้งสีฟ้าทำให้แมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรคไม่สามารถบินลอดผ่านเข้าไปกัดม้าได้

อย่างไรก็ตาม ได้ใช้แนวทางเฝ้าระวัง ป้องกันแลควบคุมเหมือนมนุษย์ที่ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้เป็นช่วงระยะฟักตัวของเชื้อโรค จึงได้สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ฟาร์มจัดระบบป้องกันริ้น ยุง ฯลฯ พาหะนำโรคและขณะนี้มีฝนตกลงมา ทำให้เกิดลูกน้ำยุงมากกว่าปกติ หากป้องกันยุงกัดได้โอกาสม้าป่วยก็ไม่มี คนเลี้ยงต้องงดกิจกรรมทางสังคมไปมาหาสู่ระหว่างคอกอื่นๆ มีม้าป่วยให้แยกออกทันทีและอุปกรณ์ต่างๆห้ามใช้ร่วมกัน คนเลี้ยงหรือผู้เกี่ยวข้องต้องสร้างสุขลักษณะที่ดี ก่อนและหลังสัมผัสม้าให้ทำความสะอาดร่างกายและสวมถุงมือทุกครั้ง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการควบคุมป้องกันและการกำจัดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งด่านตามเส้นทาง 5 จุด ห้ามเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อและอูฐโดยเด็ดขาด

Advertisement

ทั้งนี้แม้การระบาดดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบ กรณีการนำเชื้อโรคพาหะ เข้ามาในเมืองไทยได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image