ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก แต่สำหรับประเทศไทย มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น เป็นการแบ่งปันน้ำใจระหว่างกัน อันเป็นรากฐานของสังคมไทย ในหลากหลายรูปแบบ
เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่หน้าห้องประชุมวิถีอีสาน ศาลากลางจังหวัดยโสธร จังหวัดยโสธรร่วมกับสมาคมชาวยโสธร กองทัพอากาศ และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำพิธีรับมอบข้าวสารเพื่อส่งมอบเเลกเปลี่ยนตามโครงการ “ขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล”
นายวารินทร์ ทวีกันย์ อายุ 46 ปี นักธุรกิจ ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมชาวยโสธร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า นางสุวรรณา บุญกล่ำ ผอ.กองประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าพี่น้องชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต ไม่สามารถขายปลาทะเลที่หามาได้ ทำให้ขาดรายได้และไม่มีเงินซื้อข้าวสาร หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 170 คน จากหลายพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต และเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีประกาศจังหวัดภูเก็ตให้ปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และสถานที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งจังหวัด รวมถึงตลาดราไวย์ที่เป็นตลาดซื้อขายปลาและสัตว์ทะเลสด ทำให้ชาวเลราไวย์ประมาณ 1,375 คน มีอาชีพหลักคือการออกทะเลหาปลา แต่ไม่สามารถนำปลาและสัตว์ทะเลมาขายได้ เนื่องจากร้านอาหารถูกปิด จึงทำให้ชาวเลได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ตนจึงได้เสนอโครงการแลกเปลี่ยนจากแนวคิดปลาแดกแลกข้าวสู่ขนข้าวชาวนาเปลี่ยนปลาชาวเล ส่วนจังหวัดยโสธรได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีความพร้อมระดับประเทศ
นายวารินทร์กล่าวว่า จากนั้นได้ติดต่อไปยังประธานมูลนิธิชุมชนคนไท ที่ดูแลชุมชนชาวเล 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ได้รับคำตอบว่า ชาวเลราไวย์สามารถนำปลาสดมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง เพื่อถนอมอาหารได้ และในส่วนของชาวนายโสธรไม่มีปัญหา เพราะในอดีตเกษตรกรภาคอีสานทำนาใกล้ลุ่มน้ำมักประสบปัญหาน้ำท่วมข้าวนาปีได้รับความเสียหาย ไม่มีเก็บไว้บริโภค ชาวนาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตหันมาจับปลาที่มากับน้ำท่วมมาหมักปลาร้าหรือปลาแห้งใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งยังเก็บถนอมอาหารไว้จำนวนมาก
ส่วนเกษตรกรที่ทำนาบนที่ลุ่มน้ำท่วมไม่ถึง จะมีข้าวจำนวนมากเก็บไว้บริโภคในยุ้งฉาง แต่ไม่มีปลาใช้ประกอบอาหาร กระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิตและการแลกเปลี่ยนผลผลิตตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นโดยไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียวและไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
นายวารินทร์กล่าวว่า ต่อมา ได้มีการประสานงานระหว่างคณะทำงานทั้ง 2 จังหวัดเรื่องการขนส่ง แต่ติดปัญหาภูเก็ตประกาศล็อกดาวน์ สมาคมชาวยโสธรจึงได้ไปสานไปยังกองทัพอากาศ จากนั้น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งการให้จัดกำลังพลพร้อมยานพาหนะและเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือซี-130 สนับสนุนขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล ทางสมาคมชาวยโสธรปล่อยคาราวานรถขนข้าวสารจากศาลากลางจังหวัดยโสธรไปยังกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรอส่งมอบข้าวสารขึ้นเครื่องขนส่งไปไปแลกปลาในวันที่ 20 เมษายนนี้ และปลาแห้งจะถูกขนส่งกลับมาในวันเดียวกัน ข้าวสารหอมมะลิจากชาวนายโสธรจะส่งไปแลกปลากับชาวเลราไวย์ 12,000 กิโลกรัม แต่ด้วยขีดจำกัดในการขนส่งจึงสามารถขนส่งข้าวสารได้เพียง 9,000 กิโลกรัม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร ได้แจ้งชาวนาทั้ง 9 อำเภอว่ามีโครงการดังกล่าวซึ่งได้ผลตอบรับเกินคาด อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 4:1 ข้าวสารหอมมะลิ 4 กิโลกรัม สามารถแลกปลาแห้ง ปลาเค็ม และปลาหวานได้ 1 กิโลกรัม
นายวารินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มศิลปินนักร้อง ชาวยโสธร อาทิ ไผ่ พงศธร, หม่ำ จ๊กมก โดยไผ่ พงศธรได้เอาเงินส่วนตัวจำนวน 5 หมื่นบาท ซื้อข้าวจากเกษตรกรในจังหวัดได้ 1,250 กิโลกรัม เพื่อจะเอาข้าวมาแลกปลา แล้วจะนำปลาไปแจกให้ชาวอำเภอกุดชุมบ้านเกิดตัวเอง ส่วนหม่ำ จ๊กมก ก็ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่าขณะนี้ชาวเลในภาคใต้หลายจังหวัดยังต้องการข้าวสารอีกจำนวนมาก ตนมีแนวคิดต่อยอด เฟส 2 ในกลุ่มจังหวัดศรีสะเกษที่จะเอาหอมแดง กระเทียมและข้าวสารที่เป็นสินค้าโดดเด่นของจังหวัดเข้าร่วมโครงการต่อไป และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่ยังมีสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือการขนส่ง หากไม่มีหน่วยงานราชการมาสนับสนุนจะทำอย่างไร ถึงจะเกิดความยั่งยืนเพราะหากทำได้จะเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าจากชุมชนสู่ชุมชนโดยแท้จริง
นายบุญส่ง มาตขาว อายุ 63 ปี เกษตรกรปลูกข้าวบ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร กล่าวว่า นี่คงเป็นครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารกันข้ามภูมิภาคครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และไม่มีตัวแปรเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง ทั้งชาวเลและชาวนาทั้ง 2 จังหวัดจะได้กินอาหารที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมีส่งตรงมาจากแหล่งผลิต
ขณะที่ จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อันยืดเยื้อของไวรัสโควิด-19 เอาไว้
นายวิเชียรกล่าวว่า ต้องเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เพราะทุกวันนี้การไปหาซื้อของตามตลาดก็มีความเสี่ยง ร้านค้า ตลาดสดปิดหลายแห่ง จึงมีแนวคิดว่านำวิกฤตครั้งนี้มาเป็นโอกาสในการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแบ่งปันระหว่างวัดกับชุมชนให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เพราะพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีวัดอยู่กว่า 2,000 วัด กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วทุกแห่ง และหลายแห่งก็มีสระน้ำ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ
ถ้าจะทำแปลงผักชุมชนภายในวัดก็คงจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี จึงปรึกษาหารือกับพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ท่านก็เห็นด้วย และให้เริ่มดำเนินการที่วัดสว่างอารมณ์ ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อโครงการแบ่งปัน ผักสวนครัว สู้วิกฤตโควิด-19 “วัดสู่ชุมชน ทุกคนกินได้”
นายวิเชียรกล่าวว่า โครงการนี้มีสำนักงานพัฒนาการชุมชน และสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผัก นำมาปลูก และให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลพืชผักต่างๆ จะเน้นไปที่ผักสวนครัวระยะสั้นก่อน อาทิ กะเพรา พริก มะเขือ โหระพา มะนาว ข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง คะน้า และมะละกอ เป็นต้น หลังจากนั้นจึงขยายไปปลูกพืชที่ต้องใช้เวลาระยะยาว เช่น มะม่วง ต้นแค และมะพร้าว เป็นต้น
อาจให้ชาวชุมชนจัดเวรกันมาช่วยกันรดน้ำผัก ใส่ปุ๋ย โดยมีพระสงฆ์ภายในวัดเป็นผู้ดูแลรักษาสวนผักเหล่านี้ไว้ หลังจากนั้นเก็บผลผลิตไปแจกจ่ายให้กับประชาชน หรือใครขาดเหลืออะไรก็มาเก็บได้ เป็นการเอื้ออาทรกัน และเป็นการสร้างวัฒนธรรมประเพณีการแบ่งปันกันซึ่งเคยมีมาในอดีต จะสามารถช่วยให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ปัจจุบันสมาชิกหลายครอบครัวก็ตกงาน ถูกเลิกจ้างงาน แล้วกลับภูมิลำเนามาอยู่กับครอบครัว จึงไม่มีเงินรายได้อะไร นอกจากจะรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ถ้าได้มีผัก ผลไม้ จากสวนผักชุมชนนี้ ก็จะสามารถเก็บมาประกอบอาหารรับประทานในครอบครัวได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเลย คาดหวังว่าจะทำให้เกิดขึ้นทุกชุมชนในโคราช เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ก็จะทำให้วัฒนธรรมแบ่งปันผักสวนครัว วัดสู่ชุมชน ทุกคนกินได้ กลับมาฟื้นฟูได้ในที่สุด
นายวิเชียรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้นำร่องปฏิบัติการควิก วัน (Quick Win) 90 วัน ปลูกผักสวนครัว ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นแบบอย่างสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างกระแสและกระตุ้นให้ขยายผลปฏิบัติการนี้ไปทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา
เป็นการลดรายจ่ายของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัว เน้นการพึ่งตนเอง เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้
ด้านพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา วัดบึง (พระอารามหลวง) เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ดำริขึ้น จึงได้ให้คณะสงฆ์ทั้ง 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความพร้อมร่วมมือกับชาวบ้านเพาะปลูกผัก เบื้องต้นวางแผนว่าอย่างน้อยต้องมี 1 วัด 1 ตำบล สามารถดำเนินการโครงการเช่นนี้ได้ หลังจากนั้นก็จะขยายโครงการไปยังวัดต่างๆ ให้ครอบคลุมในทุกชุมชนต่อไป