เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทราบมีเหตุลูกช้างป่าห้วยขาแข้งเพศผู้ อายุประมาณ 2-3 เดือน พลัดหลงกับฝูง และได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า ตั้งแต่ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านเป็นผู้พบเห็นและแจ้งประสานให้เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งได้ทราบ โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ระดมกำลังตามหาตัวลูกช้างดังกล่าวทั้งคืน และมาพบในช่วงเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน และได้นำลูกช้างไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อความปลอดภัยของลูกช้าง เนื่องจากไม่ทราบแน่ชัดว่า ลูกช้างพลัดหลงฝูงจากบริเวณใด และจากช้างฝูงใด ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
โดยการอนุบาลนั้น เจ้าหน้าที่ต้องใช้นมยี่ห้อ enfalac สูตรนมแบบที่ใช้กับทารกถึง 1 ขวบ วันละ 5 กล่อง และต้องใช้น้ำเกลือล้างแผล แบบ NSS วันละ 3 ขวดลิตร ตลอดจนเวชภัณฑ์อื่นๆ เพื่อดูแลอนุบาลลูกช้าง จนกว่าจะสามารถปล่อยกลับคืนแม่ช้างและฝูงตามธรรมชาติได้ ซึ่งระหว่างนี้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไม่มีงบประมาณรายจ่ายสนับสนุน จึงได้ใช้เงินส่วนตัวทดรองจ่าย และต่อมาทางจังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี และส่วนต่างๆ รวมไปถึงประชาชน นำสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ดังกล่าว ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่กันอย่างต่อเนื่อง จนเพียงพอที่จะใช้ในการดูแลลูกช้างป่าห้วยขาแข้งตัวนี้แล้ว อีกด้วย
โดย นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า ปัจจุบันลูกช้างป่าห้วยขาแข้งตัวนี้ยังคงอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทีมหมอช้าง ทำการผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแลให้อาหารและรักษาแผลกันทุกวัน ซึ่งตอนนี้บาดแผลที่ข้อเท้านั้นเริ่มมีอาการดีขึ้นมากเดิมค่อนข้างมาก ลูกช้างมีอาการร่าเริงแจ่มใส ไม่ได้มีอาการเครียดหรือซึมเศร้าแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องของการผลักดันลูกช้างกลับเข้าป่าหาฝูงเดิมนั้นตอนนี้ยังต้องทำการรักษาแผลให้หายดีก่อน
และในช่วงระหว่างที่ทำการรักษานั้น ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ปูพรมแกะรอยค้นหาฝูงช้างที่คาดว่าจะเป็นฝูงที่ลูกช้างนั้นพลักหลงมา เพื่อทดลองนำลูกช้างกลับเข้าฝูงอีกครั้ง ว่าใช่ฝูงที่พลัดหลงมาหรือไม่ แต่หากการดำเนินการดังกล่าวยังไม่สำเร็จ ก็จะทำการดูแลลูกช้างนี้ไปจนกว่าจะหาฝูงให้ได้ และด้วยช้างเป็นสัตว์สังคม จึงไม่น่ายากที่จะหาฝูงให้ลูกช้างตัวนี้อยู่ได้ หากสุดท้ายทำการหาฝูงของแม่ช้างไม่ได้แล้วจริงๆ นางสาวอังสนาฯ กล่าว