“ชาวนา” ถือฤกษ์ดี “วันพืชมงคล” เริ่มหว่านไถปลูกข้าว หวังได้ผลผลิตดี (ชมคลิป)

“ชาวนา” ถือฤกษ์ดี “วันพืชมงคล” เริ่มหว่านไถปลูกข้าว หวังได้ผลผลิตดี

ปลูกข้าว- เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวนาในพื้นที่หลายจังหวัดถือฤกษ์ดี วันพืชมงคล และการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนลงแปลงนาหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ปักดำนาข้าว อย่างเช่น เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน เริ่มนำเครื่องจักรกลการเกษตรทำการไถ่หว่านปลูกข้าว

นางถาวร แย้มเสาธง เกษตรกรชาวนา ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร กล่าวว่า เลือกที่จะเริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวในวันพืชมงคล เนื่องจากความเชื่อว่าจะทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงาม ปราศจากศัตรูพืช และภัยธรรมชาติรบกวน ผลผลิตที่ได้จะดี ส่วนการเลือกทำการปักดำข้าวแทนการหว่าน เนื่องจากประหยัดน้ำและลดเวลาการเพาะปลูก รวมถึงป้องกันข้าวปลอมปนในนาข้าวด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ชาวนาพื้นที่นอกเขตชลประทานส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถที่จะเริ่มเพาะปลูกข้าวได้ทั้งหมด แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว เนื่องจากขณะนี้ยังประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ไม่มีน้ำต้นทุนในการทำนา

ขณะที่ จ.ชัยนาท เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้มีการนำรถไถพร้อมเครื่องมือลงทำการไถนาข้าว หลังจากที่นำเครื่องสูบน้ำ ติดตั้งสูบน้ำบาดาลเข้าเตรียมดินไว้ก่อนหน้านี้

Advertisement

นายวีระพงศ์ ยี่สาคร ชาวนา ต.วัดโคก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า การลงมือทำนาในวันพืชมงคลนั้น ถือเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ว่าการลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงผืนนาในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะทำให้ได้รับความเป็นสิริมงคล ด้วยการบอกกล่าวพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักษ์รักษาผืนดินและนาข้าว ช่วยบันดาลให้น้ำท่าและพืชผลในนามีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลง นก หนู มารบกวน ให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย สมบูรณ์ พูนผล

โดยในปีนี้ ชาวนาส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าอยากให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาข้าว ให้ได้ราคาตันละ 10,000 บาท และอยากให้มีมาตรการที่เข้มข้น จริงจัง ในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิต เริ่มตั้งแต่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อที่ชาวนาจะได้ไม่ต้องประสบภาวะขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ที่ จ.นครพนม เกษตรกรหลายพื้นที่ต่างออกมาปรับพื้นที่การเกษตร เพื่อเตรียมเพาะปลูกทำการเกษตร ทำไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึง เตรียมพร้อมพื้นที่ในการทำนาปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนที่จะเป็นการเริ่มไถหว่านทำนาปี อย่างไรก็ตาม ปีนี้ เกษตรกรได้รับผลกระทบหนัก ทั้งปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงภัยแล้ง ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลักแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ และลำน้ำอูน มีปริมาณน้ำต่ำกว่าทุกปี มีปริมาณเก็บกักประมาณร้อยละ 30 รวมถึงน้ำโขงปัจจุบันมีปริมาณต่ำในรอบหลาย 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1 -2 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งประมาณ 10 เมตร ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรและทำนาปี ต้องเลื่อนการทำนาปีออกไปช้ากว่าทุกปี

นายเกียรติศักดิ์ ผัดวัง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ ชลประทานจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งดูแลควบคุมการระบายน้ำจากลำน้ำก่ำ ที่ไหลมาจากพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร ระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร ก่อนไหลระบายลงน้ำโขง ที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ในโครงการพระราชดำริ ได้เร่งกักน้ำที่มีการระบายมาจากน้ำหนองหาร จ.สกลนคร เพื่อเก็บกักน้ำให้มากที่สุดไว้รองรับภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงการทำการเกษตรนาปี

“เนื่องจากปัจจุบัน มีปริมาณน้ำต่ำประมาณร้อยละ 30 ของความจุ หากไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในระบบชลประทาน พร้อมแจ้งเตือนให้เกษตรกร ชะลอการเตรียมพื้นที่หว่านกล้าข้าวทำนาปี รอจนกว่าจะมีปริมาณฝนเพียงพอ และงดการทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน ลดความเสียหาย ซึ่งทางโครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ จะเร่งกักน้ำให้มากที่สุด ให้เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตร กว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่รับผิดชอบ” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image