สกัดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ชาวอาชาพร้อมใจกางมุ้ง-ฉีดวัคซีน ชี้ไทม์ไลน์ 90 วัน โรคสงบขอจัดม้าแข่งได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พฤษภาคม ที่สมาคมเจ้าของคอกม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา นายไวพจน์ เพชรพูล รักษาการนายกสมาคมฯ พร้อมนายสุนทร แพงไพรี อุปนายกสมาคมฯ และเจ้าของคอกม้า เจ้าของม้า ผู้ฝึกซ้อมม้า รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับม้าแข่งกว่า 80 คน รับฟังนายธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา และสัตวแพทย์หญิงอารีย์ ไหลกุล หรือหมอเป็ด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน ชี้แจงให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า พร้อมแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมตามหลักระบาดวิทยา และเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นายธนวัฒน์เปิดเผยว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเริ่มมีม้าป่วยตายในพื้นที่ อ.ปากช่อง จนกระทั่งมีการแจ้งเหตุม้าตายมากผิดปกติในวันที่ 25 มีนาคม ทีมสอบสวนโรค กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงยืนยันสาเหตุ ติดเชื้อกาฬโรคแอฟริกาในม้า สายพันธุ์ Serotype 1 โรคอุบัติใหม่พบครั้งแรกในประเทศไทย สถานการณ์ทั่วประเทศล่าสุด พบการระบาด 12 จังหวัด 24 อำเภอ จำนวนคอกม้าได้รับผลกระทบ 115 แห่ง ม้าป่วย 581 ตัวและม้าตายสะสม 546 ตัว ซึ่งม้าป่วยมีโอกาสตายเฉลี่ย 95% ขณะนี้พื้นที่ อ.ปากช่อง ที่ตั้งสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดัง การระบาดได้สงบชั่วคราวแต่พื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง มีม้าแกลบป่วยตาย ผลเลือดยืนยันเป็นบวก เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกันและการกำจัดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เห็นควรประกาศกำหนด อ.เมือง เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เนื่องจากจุดที่พบม้าตายมีรัศมีห่างจากที่ตั้งชุมชนคอกม้าในเขต ต.ในเมือง ต.หนองไผ่ล้อม และ ต.โพธิ์กลาง ซึ่งมีจำนวนม้ากว่า 400 ตัว รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

สัตวแพทย์หญิงอารีย์กล่าวว่า แนวทางลดการสูญเสียม้าโดยเฉพาะพื้นที่ อ.เมือง ถือเป็นแหล่งรวมม้าแข่งฝีเท้าดีของประเทศไทย มีหลักการและความจำเป็น ดังนี้ 1.ห้ามเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ ม้าลาย และอูฐ เข้าในหรือออกนอกเขต 2.กางมุ้งขาวตาถี่หรือมุ้ง 32 ตา รวมทั้งทำความสะอาดคอกและในละแวกใกล้เคียง เพื่อกำจัดริ้น ยุง และแมลงดูดเลือด พาหนะนำโรคและ 3.หยุดม้าป่วยตาย ก่อนดำเนินการฉีดวัคซีนกางมุ้งขาวให้ม้า และเจาะเลือดส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบ และมีอุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส จึงฉีดวัคซีนได้ ระหว่างนี้หมั่นดูแลสอดส่องอาการม้า ซึ่งเป็นธรรมชาติขณะม้าสร้างภูมิคุ้มกันใช้เวลา 30 วัน ม้าอาจมีไข้หรือมีอาการข้างเคียง แต่สามารถนำม้ามาเดินออกกำลังกายเบาๆ และอาบน้ำให้ม้าได้ เมื่อเสร็จภารกิจให้รีบนำม้าเข้าไปอยู่ในมุ้ง เพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้ ต้องจัดเตรียมแผนดำเนินการแบบปูพรมเจาะเลือดและทำมุ้งขาว เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด ตามหลักการและเหตุผลทางวิชาการ ไทม์ไลน์ไม่มีม้าป่วยตายตัวสุดท้ายในพื้นที่ 90 วัน สามารถประกาศเขตโรคสงบและขออนุญาตจัดม้าแข่งได้

Advertisement

ด้านนายไวพจน์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์และภาคเอกชน รวมทั้งกลุ่มคนรักม้าได้สนับสนุนมุ้งขาวจำนวน 20 ม้วน สามารถกางมุ้งได้ 3,700 ตารางเมตร รองรับม้าได้ประมาณ 120 ตัว แต่ประชากรม้าแข่งมีจำนวนกว่า 400 ตัว สมาคมมิได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งจัดหาให้กับผู้ประกอบการม้าแข่งให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ซ้ำกรรมซัดทั้งภัยโควิด-19 และโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image