อุดรธานีเจ๋งรีไซเคิลขยะรกเมืองแปรสภาพเป็นอ่างล้างมือสู้โควิด-19

อุดรธานีเจ๋งรีไซเคิลขยะรกเมืองแปรสภาพเป็นอ่างล้างมือสู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มอบนโยบายเพิ่มจุดล้างมือในย่านผู้คนแออัด สวนสาธารณะ ตลาด ใน-นอกสถานที่ราชการ และสถานศึกษา ให้พร้อมก่อนเปิดโรงเรียน ถ้าส่วนใดมีปัญหาให้ อปท.เข้าดำเนินการ พร้อมยกตัวอย่าง “นวัตกรรม อ่างล้างมือรีไซเคิล แบบมือไม่สัมผัส” ของ ทน.อุดรธานี ที่นำต้นแบบมาติดไว้หน้าจวนผู้ว่าฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ถนนวัฒนานุวงษ์ เทศบาลนครอุดรธานี อ่างล้างมือรีไซเคิลแบบไม่สัมผัส 2 แบบ ถูกตั้งไว้บริการคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้คนมารับแจกจ่ายอาหาร และรับของจากตู้ปันสุข ใช้ล้างมือก่อนรับของกลับไป

แบบแรกทำจาก ถังน้ำมัน 200 ลิตร เจาะด้านบนเพื่อวางอ่าง เจาะด้านหลังเพื่อต่อน้ำประปาเข้า และให้น้ำทิ้งออก เจาะด้านหน้าติดตั้งระบบเท้าเหยียบเปิด-ปิดน้ำ พร้อมติดตั้งก๊อกน้ำแบบโค้งด้านบน มีขวดสบู่เหลวไว้ล้างมือด้วย

Advertisement

แบบที่สองทำจากตู้โทรศัพท์เก่ารุ่นขาเดี่ยว มีฐานเป็นคอนกรีต ได้รับการซ่อมแซมเหล็ก-พลาสติกใส 2 ด้าน และถอดโทรศัพท์ออก ปรับแต่งด้านในตู้เพื่อติดตั้งอ่างล้างมือ ก๊อกน้ำล้างมือแบบโค้ง มีสบู่เหลวบรรจุขวดไว้ล้างมือ ที่ฐานคอนกรีตติดตั้งอุปกรณ์เปิดน้ำแบบเท้าเหยียบ

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สถานีสูบน้ำปากห้วยหมากแข้ง แหล่งผลิตนวัตกรรมต้นแบบ และพบกับช่าง ชัยพงษ์ เลิศประเสริฐ กำลังสร้างอ่างล้างมือจากถังน้ำมัน 200 ลิตร ชุดที่ 11 และอ่างล้างมือจากตู้โทรศัพท์ ชุดที่ 4 เพื่อเป็นต้นแบบให้ผลิตได้วันละ 10 ชุด ออกแบบโดยนายดาวเรือง หากันได้ ผอ.สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี

Advertisement

ผอ.สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี เล่าว่า ชอบงานด้านรีไซเคิลมานานแล้ว ชิ้นงานจะช่วยไปกระตุ้นชาวบ้าน โดยอ่างล้างมือแบบมือไม่สัมผัส เกิดขึ้นมาก่อนเกิดโควิด-19 เป็นช่วงทำนโยบาย “จัดระเบียบเมืองของผู้ว่าฯ” เราไปพบสิ่งของถูกทิ้งไว้มากมาย รวมทั้งสุขภัณฑ์ที่ถูกรีโนเวต ออกจากบ้านและห้องชุด รวมทั้งถังน้ำมัน 200 ลิตร และตู้โทรศัพท์สาธารณะ เจ้าของทิ้งร้างไว้ทั่วเมือง บางส่วนเราต้องเก็บออกมาเอง

“ผมออกแบบอ่างล้างมือจากถัง 200 ลิตร มอบให้ช่างชัยพงษ์ไปทำต้นแบบ ทำไปด้วยปรับกันไปด้วย จนสรุปสร้างตัวต้นแบบ เจาะด้านบนใส่อ่าง ชุดแรกๆ ได้จากสุขภัณฑ์รีโนเวต ต่อมาก็เป็นกะละมัง เจาะด้านหลังเป็นช่องเซอร์วิส เจาะด้านหน้าเป็นช่องเท้าเหยียบ ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มจากท่อน้ำเข้า ผ่านก๊อกน้ำตัวแรก เพื่อเปิด-ปิดน้ำด้วยเท้าเหยียบ ใช้สปริงจักรยานช่วย ผ่านก๊อกโค้งด้านบนที่เปิดค้างไว้ และท่อน้ำทิ้งไหลออกด้านหลัง ตัวต้นแบบตั้งอยู่ที่หนองประจักษ์ฯ”

ผอ.สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี เล่าต่อว่า เมื่อเกิดเรื่องไวรัสโคโรนาระบาด ผู้ว่าฯมีแนวคิดให้ ทน.อุดรธานี ติดตั้งอ่างล้างมือในจุดสำคัญๆ ให้ทุกคนล้างมือกันเป็นนิสัย ทน.อุดรฯจึงนำเสนออ่างล้างมือตัวต้นแบบแรก พร้อมเสนอแบบที่สองทำจากตู้โทรศัพท์ ในราคาต้นทุนไม่เกินชุดละ 1,000 บาท พร้อมกันนี้ท่านผู้ว่าฯได้ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคอุดรธานี ดูแลเรื่องน้ำประปาให้

“ทน.อุดรธานีนำอ่างล้างมือแบบไม่สัมผัส รีไซเคิลจากถัง 200 ลิตร และตู้โทรศัพท์สาธารณะ มาตั้งคู่กันที่หน้าจวนผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี จากนั้นก็ตั้งที่หน้า รพ.ศูนย์อุดรธานี และหน้าตลาดจุดผ่อนผันสนามทุ่งศรีเมือง และอ่างล้างมือจากถัง 200 ลิตร ก็กระจายไปตามสวนสาธารณะ เรากำลังจะระดมช่างฝีมือ มาผลิตอ่างล้างมือทั้ง 2 ชุดนี้ ไปติดตั้งหน้าสถานศึกษา และในพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ” นายดาวเรืองกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image