‘พะเยา’ พบผู้ป่วยสังเวย ‘ไข้เลือดออก’ แล้ว 1 ราย ‘สสจ.’ จัดจิตอาสาปราบยุงลาย

‘พะเยา’ พบผู้ป่วยสังเวย ‘ไข้เลือดออก’ แล้ว 1 ราย ‘สสจ.’ จัดจิตอาสาปราบยุงลาย

วันที่ 6 มิถุนายน 2563 นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พะเยา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยจะมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน จากรายงานพยากรณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2563 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทางจังหวัดพะเยา คาดการณ์ผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 169 ราย จะพบผู้ป่วยสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป และจากการรายงานผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ตามโครงการอาสาปราบยุงลายจังหวัดพะเยา ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2563 พบว่าค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินค่ามาตรฐาน ทั้งในบ้าน วัดและสถานศึกษา และข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-3 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยสะสมจำนวน 34 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 7.16 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยสะสมเป็นลำดับที่ 71 ของประเทศ กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-29 ปี พบผู้ป่วยในพื้นที่ 5 อำเภอ ซึ่ง อ.เชียงม่วน มีอัตราป่วยสะสมมากที่สุด รองลงมา คือ อ.ดอกคำใต้ เชียงคำ เมืองพะเยา และ ปง ตามลำดับ

นายแพทย์กรกฤช กล่าวว่า ในปี 2563 สสจ.พะเยา ได้จัดทำโครงการจิตอาสาปราบยุงลายด้วยความร่วมมือราษฎร์ รัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน จังหวัดพะเยา โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย ขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้าน ให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ให้ทุกครัวเรือนสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเอง

“ทุกสัปดาห์อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และจิตอาสาปราบยุงลาย สุ่มสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน โดยยึดหลักตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด19 ในการปฏิบัติงาน เช่น หมั่นล้างมือและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลของผู้สำรวจ ไม่จัดกิจกรรมรณรงค์ที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก และให้ความรู้ สร้างความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน หากพบผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องเร่งดำเนินการควบคุมโรคในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา” นายแพทย์กรกฤช กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image