จ่อรื้อถอนขนำคอกหอยกว่า 800 หลัง 6 อำเภอในสุราษฎร์ฯ

จ่อรื้อถอนขนำคอกหอยกว่า 800 หลัง 6 อำเภอใน จ.สุราษฎร์ฯ

จ่อรื้อถอนขนำคอกหอยกว่า 800 หลัง 6 อำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ว่าฯโต้ไม่มีผลประโยชน์ สั่งรื้อหลักเขตให้ชาวบ้านรื้อถอนด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องประชุมตาปี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมนาวาเอกวศากร สุนทรนันท์ รอง ผอ.ศรชล.ประจำ จ.สุราษฎร์ธานี นายสุเชาว์ โทมุสิก ป้องกันจังหวัดและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและผู้นำชุมชนบริเวณอ่าวบ้านดอน ประมาณ 50 คน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาบุกรุกที่สาธารณะและการแย่งชิงหอยแครงในอ่าวบ้านดอน โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งในที่ประชุมตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและผู้นำชุมชน เห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องมีผู้ประกอบการเลี้ยงหอยด้วย แต่ควรอยู่นอกฝั่งประมาณ 1,500 เมตร และให้แต่ละอำเภอมี อ.เมือง พุนพิน ไชยา ท่าชนะ ท่าฉาง และ อ.กาญจนดิษฐ์ จัดตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอำเภอละ 10 คน รวม 60 คน มาหารือในครั้งต่อไป

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอ่าวบ้านดอน จำเป็นจะต้องหารือทุกฝ่ายโดยหลังจากนี้จะเชิญผู้ประกอบการเลี้ยงหอย กลุ่มอนุรักษ์ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และอาจจะต้องมีการเปิดประชาพิจารณ์ ซึ่งจะนำข้อมูลมาพิจารณาจัดทำแผนแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้และเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืน

ด้านนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลผระโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผบ.ทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะ ผอ.ศรชล.ภาค 2 และนายมีศักดิ์ ภักดีพง อธิบดีกรมประมง โดยจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำโดยเฉพาะขนำที่พักในอ่าวบ้านดอน กว่า 800 หลัง ซึ่งระยะแรกจะเริ่มในพื้นที่ อ.เมือง อ.พุนพิน จากนั้นจะไปยังพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.ไชยา และ อ.ท่าฉาง รวมพื้นที่ 6 อำเภอ ขณะนี้ได้ปิดประกาศให้รื้อถอนด้วยตนเองก่อน หากดื้อเพ่งจะขอใช้อำนาจศาลบังคับต่อไป

Advertisement

นายวิชวุทย์กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการประมงจังหวัดได้ยกร่างข้อกำหนดเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอ่าวบ้านดอนอย่างยั่งยืนเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงทางวิชาการ รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะอนุกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักวิชการด้านประมง ด้านสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคประชาชนหรือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางการจัดการทรัพยากรและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งในอนาคต

“ส่วนกรณีที่มีนำเสนอข่าวทำนองว่า ตนและนายทหารระดับสูงในกองทัพภาคที่ 4 ได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงหอยแครง ขอยืนยันว่าตนไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นและเป็นผู้สั่งให้รื้อหลักเขตของผู้เลี้ยงออกจากเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตรด้วยตัวเองให้เป็นที่สาธารณะให้ชาวบ้านได้เข้าทำกิน ซึ่งได้ชี้แจงเป็นหนังสือไปยังผู้บังคับบัญชาแล้ว” นายวิชวุทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image