อุทัยฯภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย เขื่อนวังร่มเกล้าไม่มีน้ำ หน้าเขื่อนแห้งขอด กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ (ชมคลิป)

อุทัยฯภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย เขื่อนวังร่มเกล้ามีปริมาณน้ำเป็นศูนย์ หน้าเขื่อนแห้งขอด กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

วันที่ 11 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ในช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี จะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่มากพอที่จะมีปริมาณกักเก็บตามแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สระกักเก็บน้ำของเกษตรกร ตลอดจนคลองส่งน้ำสาธารณะ รวมไปถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัด ที่ขณะนี้พบว่ายังคงแห้งขอดไม่มีปริมาณเข้ามาเติมเต็มได้เลย

โดยเฉพาะที่ เขื่อนวังร่มเกล้า ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หนึ่งในเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัด ที่ขณะนี้พบว่า สภาพหน้าเขื่อนนั้นแห้งขอด ไม่มีปริมาณน้ำระบายเข้าออก มีชาวบ้านในพื้นที่ใช้ช่วงที่เขื่อนที่ไร้น้ำแต่ยังมีความชื้นของดินจึงทำให้มีหญ้าขึ้นปกคลุม เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ชั่วคราว

โดยจากการรายงานสถานการณ์น้ำ ของโครงการชลประทานอุทัยธานี เช้าวันนี้พบว่า เขื่อนวังร่มเกล้า มีระดับน้ำเหนือเขื่อน และท้ายเขื่อน เท่ากับ น้ำแห้ง การระบายน้ำออกเป็นศูนย์ ปริมาณน้ำแก้มลิง เหลืออยู่เพียง 2.50 ล้าน ม. ส่วนปริมาณน้ำเหนือเขื่อน 0.000 ล้าน ม. หรือเรียกว่าไม่มีปริมาณน้ำเลย อีกด้วย

Advertisement

นายฐกร กาญจิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดความแห้งแล้งยาวนานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน จึงส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมเต็มจึงทำให้เป็นไปตามสภาวะตามที่เห็นดังกล่าว โดยเฉพาะที่เขื่อนวังร่มเกล้านั้น ซึ่งก็ได้รับผลพวงจาก ภัยแล้งยาวนาน ถึง 2 ปีจึงทำให้ปัจจุบันไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายออก จุดช่วงหน้าเขื่อนแห้งขอด จนทำให้กลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ชั่วคราวได้ แม้ในช่วงนี้จะมีปริมาณฝนตกลงมา แต่พื้นที่ส่งน้ำที่ไหลลงมาเติมเต็มให้เขื่อนอย่าง จุดส่งน้ำเหนือเขื่อนในพื้นที่ ลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และจุดที่มีการขอก่อสร้างเขื่อนแม่วงศ์ ก็ไม่ปริมาณฝนตกลงมามากพอ จึงทำให้เขื่อนวังร่มเกล้าไม่มีปริมาณไหลลงเข้ามาในเขื่อนได้

“หากปีนี้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็อาจจะทำให้เราสามารถที่จะมีปริมาณน้ำกักเก็บไว้ใช้ได้บ้างพอสมควร ประกอบกับช่วงนี้ เริ่มเข้าฤดูกาลทำนาอีกครั้ง พื้นที่การเกษตรรอบเขตชลประทานก็เริ่มมีเกษตรกรที่เริ่มทำการไถหว่านและลงมือปลูกข้าวกันอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการชลประทาน ก็ยังคงมีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้เกษตรกรได้ทราบว่า ปัจจุบันเขื่อนวังร่มเกล้ายังไม่มีแหล่งน้ำที่จะสามารถ นำมาไว้ส่งช่วยพื้นที่การเกษตรได้ จึงทำให้การทำนาของเกษตรกรในครั้งนี้ เป็นการทำนารอฝนเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยงอีกด้วยเช่นเดียวกัน”นายฐกรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image