ช้างพลายถวายงาสร้างพระโกศอัฐิพระสังฆราชสิ้นลมหายใจ เผยจากไปอย่างสงบ เพราะชรามาก

วันที่ 25 กรกฎาคม  น.ส.โซไรดา ซาวาลา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยว่า ที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้เกิดความสูญเสียต่อประชากรช้างไทยขึ้น เนื่องจากช้างพลายทองใบ เพศผู้ อายุ 70 ปี ได้จากไปอย่างสงบเมื่อคืนที่ผ่านมา ด้วยโรคชรา โดยเสียชีวิตภายในโรงเรือนรักษาช้าง ซึ่งช้างได้พักรักษาตัวอยู่ที่ จ.ลำปาง มานาน กระทั่งล้มลงอย่างสงบเมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ช้างพลายทองใบ ซึ่งเป็นช้างมีภูมิลำเนาใน จ.สุรินทร์ ได้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้างลำปางมานานกว่า 2 เดือนแล้ว เนื่องจากแก่ชรามาก ซึ่งขณะพักรักษาที่โรงพยาบาล ทางคณะสัตวแพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ ซึ่งช้างนอกจากมีอายุเยอะมากแล้ว ก็ยังมีอาการอ่อนล้ามาก ยืนไม่ค่อยไหว ทำให้ต้องใช้สายเครนพยุงตัวให้ช้างยืนได้ และยังให้สารน้ำ เพื่อให้ช้างมีร่างกายที่แข็งแรง ทั้งนี้ ก่อนที่ช้างจะล้มลง ช้างพยายามจะล้มตัวลงนอน เนื่องจากยืนไม่ไหว จึงได้ปลดเครนที่พยุงตัวออกประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นช้างก็นอนลง และจากไปอย่างสงบ

ทั้งนี้ หลังจากช้างได้ล้มลง ตามประเพณีก็ต้องมีการประกอบพิธีปัดพลาย เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ทางโรงพยาบาลช้างก็ได้เชิญ นายหลักชัย ใหม่ทำ หรืออาจารย์หลัก ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบพิธีล้านนา เข้ามาประกอบพิธีปัดพลายด้วยการสวดเป็นภาษาล้านนา และประพรมน้ำมนต์ใส่ซากช้าง เพื่อเป็นการปัดเคราะห์ ก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่ และควาญช้างได้จุดธูปไหว้ซากช้าง เพื่อเป็นการขอขมาตามความเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่คู่บ้านคู่เมือง จากนั้นพระสงฆ์ 4 รูป ก็ได้ประกอบพิธีสวดบังสุกุลแก่ช้าง เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ช้างที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีทางโรงพยาบาลช้างได้ให้รถแบ๊กโฮยกซากช้างพลายทองใบไปฝังกลบดินภายในพื้นที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง ซึ่งก่อนที่จะทำการกลบนั้นก็ได้มีการถอดงาช้างที่ติดอยู่ออก เพื่อนำกลับไป เนื่องจากช้างเชือกนี้มีเจ้าของ

ด้าน นายเนติวิทย์ อมรสิทธิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มคชสารคู่แผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ดูแลช้างเชือกนี้ และเดินทางมาร่วมประกอบพิธี กล่าวว่า ช้างเชือกนี้เป็นช้างประจำตระกูลของ นายสมโรจน์ คูกิตติเกษม อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานชมรมสืบสานวัฒนธรรมคนกับช้างสุรินทร์ โดยเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งโต และมีงายาวสวยงาม แต่เป็นงาที่ขัดกัน ลักษณะจะเป็นงายาวโค้งเข้าหากัน และทับกัน ดังนั้น ตามศาสตร์การตัดบำรุงงาช้างพลายทองใบ ที่มีปัญหาเรื่องงาไขว้กันเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ประกอบกับพลายทองใบก็มีอายุมากแล้ว พอหลังจากที่มีการตัดงาออกไป พลายทองใบก็มีสุขภาพดีขึ้น จึงต้องตัดแต่งร่อนงาออกมาเก็บไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนเลี้ยงช้าง เพื่อความปลอดภัยของคนเลี้ยงช้าง ที่ต้องร่อนงาออก และการตัดแต่งก็มีวิธีที่ทำให้งาช้างงอกขึ้นมาใหม่ได้

Advertisement

โดยจะมีครูบาอาจารย์หมอช้างที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ลงมือทำ ซึ่งก่อนทำก็ต้องทำพิธีขอขมาช้างพลายเชือกนี้ ก่อนที่จะร่อนงาช้างคู่ดังกล่าวเก็บไว้ หลังเก็บไว้นาน 3 ปี ทางเจ้าของช้างก็มาทราบข่าวว่า จะมีการจัดสร้างพระโกศบรรจุอัฐิถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังนั้น ทางเจ้าของช้างจึงได้นำงาช้างของช้างพลายทองใบที่เก็บไว้ไปถวาย เพื่อทำการจัดสร้างพระโกศอัฐิ เพื่อสร้างบุญ และกุศล

“เดิมทีช้างอยู่ จ.สุรินทร์ แต่ช้างที่มีอายุมากแล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายช้างกลับบ้าน ทำให้ช้างได้มาพักผ่อนอยู่ตามแนวป่าใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แต่ก็เกิดป่วยด้วยความชรา จึงได้ส่งตัวช้างมารักษา และดูแลที่โรงพยาบาลช้างที่ จ.ลำปาง กระทั่งช้างล้มลง สำหรับช้างเชือกนี้เป็นที่รักของเจ้าของช้าง และประชาชนที่เคยสัมผัส ถึงแม้จะเป็นช้างพลาย เพศผู้ มีงายาว แต่ก็มีความน่ารัก ไม่ดุร้าย และยังเป็นช้างที่เชื่องมากเชื่อฟังควาญช้างเป็นอย่างดี แต่ด้วยอายุช้างที่มากแล้วก็ถือว่าสิ้นบุญไปตามอายุขัยของช้าง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image