ยื่นคัดค้านปมนำลาย ‘เตาเผาโบราณ’ 700 ปี ปูพื้นให้คนเหยียบ วอนตระหนักคุณค่าทางภูมิปัญญา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการเตาเผาโบราณเวียงบัว ชุมชนเวียงบัว หมู่ 7 ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ได้ส่งตัวแทนเข้าพบเพื่อหารือกับ ดร.ประพันธ์ เทียนวิหาร นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) แม่กา กรณีคณะทำงานโครงการปรับปรุงลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง นำลวดลายโบราณของเตาเผาเวียงบัว อายุกว่า 700 ปี ไปทำเป็นลายปูพื้นเป็นที่คนเดินผ่านไปมา และขอความช่วยเหลือจาก นายก ทต.แม่กา ติดต่อประสานงานและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนชุมชนเวียงบัว ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมเตาเผาโบราณ

นายพรศักดิ์ เฉพาะธรรม ประธานคณะกรรมการเตาเผาโบราณเวียงบัว หมู่ 7 ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา เปิดเผยว่า ตน พร้อมด้วยคณะกรรมการเตาเผาโบราณเวียงบัวได้เข้าพบและหารือกับ ดร.ประพันธ์ เทียนวิหาร นายก ทต.แม่กา เรื่องการประสานเพื่อ คัดค้านหน่วยงานเจ้าของโครงการปรับปรุงลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ไม่ให้นำลวดลายโบราณของเวียงบัวที่มีอายุกว่า 700 ปี ไปทำเป็นลายปูพื้น ซึ่งการปูพื้นก็จะเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้เหยียบย่ำเดินไปมา ทั้งนี้ ลวดลายดังกล่าวถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาวเวียงบัว ซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าของภูมิปัญญามาแต่โบราณ เมื่อชาวเวียงบัวไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของคณะทำงานโครงการฯข้างต้น จึงได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการออกมา โดยขณะนี้กำลังดำเนินการรวบรวมรายชื่อของประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อขอคัดค้านจนกว่าจะมีการยกเลิกนำลายเวียงบัวไปปูพื้น


พวกผมไม่ได้ต้องการเรียกร้องมูลค่าใดๆ จากผู้ที่นำลวดลายเวียงบัวไปใช้ประโยชน์ เพียงแต่ขอให้ผู้ที่นำไปใช้ได้ตระหนักถึงคุณค่าทางภูมิปัญญา และเคารพต่อสิทธิภูมิปัญญา เคารพสิทธิชุมชนคนเวียงบัวด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกอย่างมาก เราชาวเวียงบัวได้ทำพิธีบวงสรวงเตาเผาทุกปี แต่ก็ยังมีคนที่นำลายเวียงบัวไปทำเป็นสิ่งที่ให้คนเหยียบย่ำ เช่นนี้ถือว่าไม่เหมาะสม และเป็นการละเมิดสิทธิทางภูมิปัญญาอย่างยิ่ง ดังนั้น ขอให้ยุติการนำลวดลายเวียงบัวไปปูพื้นด้วย เพราะภูมิปัญญาไม่ควรถูกเหยียบย่ำ
ปธ.เตาเผาโบราณเวียงบัวกล่าว

Advertisement

ดร.ประพันธ์กล่าวว่า เหตุผลที่ตัวแทนชาวเวียงบัวได้เข้ามาพบเพื่อหารือถึงทางออกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีได้มีคณะทำงานในโครงการฯนำลวดลายโบราณของเวียงบัวไปทำเป็นลายปูพื้น โดยที่ไม่ได้ทำการสื่อสารเพื่อขออนุญาตจากชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจเกิดจากการมองลวดลายที่ต่างมุมกัน ระหว่าง “คุณค่า” กับ “มูลค่า” โดยทางคณะทำงานโครงการฯอาจจะมองด้านมูลค่าที่มีผลด้านเศรษฐกิจ แต่ขณะที่ชุมชนเวียงบัวมองในเรื่องของคุณค่าของลวดลาย ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพราะมีการเลี้ยงผีเตาโบราณทุกปี ดังนั้น ตนจึงมองว่ามีขั้นตอนที่ขาดความละเอียดอ่อนคือการสื่อสารที่ไม่ละเอียดอ่อนกับทางพื้นที่ เรื่องนี้ควรต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกันอย่างเข้าใจต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image