อปท.อุตรดิตถ์ แฉ ถูกจังหวัดขีดเส้น จัดงบแก้แล้ง อดีตนอภ.ออกปาก อปท.อย่าขอ

อปท.อุตรดิตถ์ แฉหมดเปลือก งบแก้แล้งจังหวัดละ 220 ล้านบาท จังหวัดสั่งให้ทำงบไม่เกินโครงการละ 500,000 บาท อดีต นอภ.ย้ำ อปท.ห้ามขอ เพราะมีปัญหาตามมาแน่

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายราชัน มหาวัน รักษาการนายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้จังหวัด ๆละ 220 ล้านบาท เพื่อนำมาบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อำเภอ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนทั่วประเทศต้องเผชิญกับภัยแล้งติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และปีนี้ยิ่งแล้งหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้จากเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่หลาย อปท.หลายพื้นที่ก็ยังแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แทบจะทุกวัน บางแห่งต้องเจียดงบประมาณของ อปท.ที่ยังพอเหลือจากการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโรคโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่วนงบประมาณของจังหวัดที่ได้รับมาจำนวน 220 ล้านบาทนั้น ยอมรับทั้ง อ.ท่าปลา ไม่มี อปท.ไหนของบประมาณส่วนนี้มาเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเลย

นายราชัน กล่าวว่า งบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดละ 220 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่น่าจะมีปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากอดีตนายอำเภอท่าปลา เคยเตือนผู้บริหาร อปท.ในพื้นที่ อ.ท่าปลาว่า ไม่ควรของบประมาณนี้ เนื่องจากถูกกำหนดว่า ทุกโครงการจะต้องทำงบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท เนื่องจากเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องยื่นซองประกวดราคา สามารถเรียกผู้รับเหมามาตกลงราคาแล้วดำเนินการโครงการได้ทันที แต่พอถึงเวลาตรวจรับงานจากผู้รับเหมาจะต้องเป็นหน้าที่ของอำเภอ และ อปท.เป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เงินงบประมาณ 500,000 บาท ไม่สามารถที่จะนำมาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ออกมาดี และมีคุณภาพอย่างแน่นอน หากตรวจรับงานไป โอกาสที่จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานและมีความผิดอย่างแน่นอน

“ก่อนหน้านี้ผมเคยออกมาพูดครั้งหนึ่งแล้ว มีข้าราชการระดับสูงในจังหวัดเรียกเข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจในโครงการ พร้อมรับปากว่า ทต.จริม อยากได้งบประมาณก็ขอให้เร่งดำเนินการเขียนโครงการเสนอเข้าไป แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อ 1 โครงการ จะพิจารณาให้อย่างเร่งด่วน แต่จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่ ต.จริม ก็ยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอยู่ เพราะยังไม่ได้รับงบประมาณจากทางจังหวัด เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแต่อย่างใด แต่เท่าที่ทราบข้อมูล และ อปท.หลายแห่งต่างข้องใจว่า ทำไมงบประมาณส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ อ.พิชัย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำน่านไหลผ่าน กลับได้รับงบประมาณเพื่อนำไปแก้ปัญหาภัยแล้ง และแทบจะทุกโครงการงบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท เรื่องนี้ฝากรัฐบาลลงมาตรวจสอบการทำงานของจังหวัดในการบริหารจัดการงบประมาณว่า ถูกต้องสุจริตโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่” นายราชัน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image